14/11/2019
Environment

ในวิกฤตมีโอกาส : สร้าง กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว จากโครงสร้างทิ้งร้างใจกลางเมือง

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


“ทำไมกรุงเทพฯ ไม่มีต้นไม้เยอะๆ แบบสิงคโปร์บ้าง” หลายคนที่เคยเห็นบ้านเมืองเขาคงอดรู้สึกน้อยใจไม่ได้ เพราะเทียบกันแล้วเขาดูเจริญนำหน้าไปหลายก้าว

ในมุมการพัฒนาเมือง เราศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างเมืองที่มีองค์ประกอบบางอย่างเหมือนกัน เพื่อดูว่าองค์ประกอบที่แตกต่างทำให้เกิดผลลัพธ์ดีไม่ดีอย่างไร แต่กรุงเทพฯ กับสิงคโปร์แตกต่างกันหลายอย่าง การนำมาเปรียบเทียบกันตรงๆ จึงออกจะผิดฝาผิดตัวไปสักหน่อย

สิงคโปร์เป็นนครรัฐ มีอำนาจการตัดสินใจที่เด็ดขาดและรวมศูนย์ กลไกการปกครองจึงจัดการง่ายกว่ามาก ส่วนกรุงเทพฯ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หลายอย่างผู้ว่าราชการต้องขออนุมัติเห็นชอบจากหน่วยงานส่วนกลาง จะขยับอะไรก็ค่อนข้างยาก

แต่ในข้อจำกัดนี้ ถามว่าเรามีอะไรที่จัดการดูแลให้ดีขึ้นได้ไหม คำตอบคือมี

เรามีที่ดินเยอะกว่าสิงคโปร์แต่ไม่ได้ใช้ที่ดินให้คุ้มค่าเท่าที่ควร นอกจากดูตัวเลขปริมาณ สิ่งที่เราต้องสนใจคือตัวเลขสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวที่ประชากรอย่างเราๆ ‘เข้าไปใช้งานได้จริง’ ความย้อนแย้งคือตัวเลขพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ กับพื้นที่ที่คนเข้าไปใช้งานได้จริงนั้นต่างกันอยู่มาก ทั้งที่การจั่วหัวว่า ‘สาธารณะ’ ย่อมต้องหมายถึงการเปิดให้คนเข้าไปใช้งานอยู่แล้ว

เอาตัวเลขมากางกันชัดๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,568 ตร.กม. เรามีพื้นที่สีเขียวเกือบ 14,000 แห่ง รวม ราว 120,000 ไร่ มีสวนสาธารณะกว่า 8000 แห่ง รวมราว 23,000 ไร่ แต่พื้นที่สวนสาธารณะที่คนทั่วไปเข้าใช้งานได้มีเพียง 93 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 4,250 ไร่ หรือ 0.43% ของพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น 

ขยับมาดูพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะต่อหัว กรุงเทพฯ มีประชากร 5.7 ล้านคน เป็นจังหวัดที่มีประชากรแฝงมากที่สุดคือ 2.036 ล้านคน สมมติว่าคำนวณแบบรวมประชากรแฝง กรุงเทพฯ รองรับประชากร 7.736  ล้านคน เราจะมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 24.82 ตร.ม. ต่อคน มีพื้นที่สวนสาธารณะเฉลี่ย 4.98 ตร.ม. ต่อคน แต่หากคิดเฉลี่ยพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าไปใช้งานได้ ประชากรแต่ละคนจะเป็นเจ้าของพื้นที่สวนสาธารณะเพียง 0.88 ตร.ม. เท่านั้น

ทำไมตัวเลขจึงย้อนแย้งกันเช่นนี้ คำตอบอยู่ที่การให้นิยามพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะซึ่งกำหนดโดยสำนักสวนและสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ นับรวมสวนที่เราไม่ได้ใช้พักผ่อนจริงเข้าไปด้วย อย่างสวนถนน (สวนไหล่ทาง สวนเกาะกลาง สวนทางแยก) และสวนเฉพาะทาง (เช่น สวนอนุสาวรีย์ สวนวัฒนธรรม สวนประวัติศาสตร์) เข้าไปด้วย นิยามพื้นที่สีเขียวนอกเหนือจากสวนสาธารณะก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน

อีกปัญหาคือ สีเขียวที่มีก็ไปกระจายตัวอยู่ชานเมือง คนในเขตเมืองชั้นในและย่านธุรกิจเลยยิ่งขาดแคลนสีเขียว โดย 5 เขตที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนสูงสุดไปกระจายตัวอยู่บริเวณชานเมืองทั้งหมด ได้แก่ เขตบางขุนเทียน (217.88 ตร.ม./คน) เขตหนองจอก (97.46 ตร.ม./คน) เขตคันนายาว (61.08 ตร.ม./คน) เขตคลองสามวา (41.69 ตร.ม./คน) และเขตมีนบุรี (38.1 ตร.ม./คน)

ส่วน 5 เขตที่มีสัดส่วนสวนสาธารณะต่อคนสูงสุดได้แก่ เขตคันนายาว (18.71 ตร.ม./คน) เขตบางขุนเทียน (14.77 ตร.ม./คน) เขตทวีวัฒนา (14.54 ตร.ม./คน) เขตปทุมวัน (14.03 ตร.ม./คน) และเขตหลักสี่ (13.43 ตร.ม./คน) นอกจากเขตปทุมวันที่มีสวนลุมพินี อีก 4 เขตล้วนอยู่ชานเมือง ซ้ำร้ายคือคนไม่สามารถเข้าถึงสวนในพื้นที่ดังกล่าวในระยะเดินได้ หรือเป็นสวนที่ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน

เราต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ ยังมีสวนสาธารณะไม่เพียงพอและห่างไกลจากค่ามาตรฐานสากล ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำขนาดพื้นที่สีเขียวเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนไว้ที่ขนาดอย่างน้อย 7-9 ตร.ม. ต่อคน ตามลักษณะภูมิอากาศแต่ละประเทศ

สิ่งที่เราควรทำอย่างเร่งด่วนคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่สาธารณะเข้าถึงได้ทั้ง ‘ทางเท้า’ และ ‘ทางสายตา’ พื้นที่ที่เข้าถึงได้ทางเท้าหมายถึงสวนหรือทางเดินสีเขียว แต่ที่ดินส่วนใหญ่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ที่อยู่อาศัยก็อยู่ใต้ร่มของการเคหะ กทม. มีข้อจำกัดทั้งด้านงบซื้อที่ดินและด้านอำนาจที่จะขออนุญาตใช้ที่ดินส่วนกลาง

ดังนั้นช่องว่างที่สีเขียวรุกคืบเข้าไปได้จึงเป็นที่ดินทิ้งร้างของเมือง เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนที่รวมๆ มีมากถึง 600 ไร่ ตัวอย่างโครงการแบบรูปธรรมก็มีให้เห็นแล้ว เช่น พระปกเกล้าสกายปาร์ค ที่นำโครงสร้างเก่าอย่าง  ‘สะพานด้วน’ ซึ่งอยู่ระหว่างสะพานพระปกเกล้าขาเข้าและขาออก มาปรับปรุงให้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับคนเดินและสวนลอยฟ้าความยาว 280 เมตร หากไม่มองข้ามทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ (Leftover Asset) เหล่านี้ กรุงเทพฯ จะมีทำเลทองของต้นไม้อีกมาก ไม่ต่างจากอีกหลายเมืองทั่วโลกที่แปลงโฉมที่ดินเก่าเก็บให้เป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต

สิ่งที่เราทำได้อีกคือ จัดทำไกด์ไลน์สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เหมาะกับบริบทกรุงเทพฯ มีแนวทางดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ footprint ที่ชัดเจน สร้างพื้นที่สีเขียวแนวตั้งบนหลังคา ผนัง รั้ว และสร้างแรงจูงใจด้วยการลดหรือยกเว้นภาษี สำหรับคนที่ลงมือทำจริง

อย่ามองข้ามพลังสีเขียวในพื้นที่เหล่านี้ สีเขียวตามรั้วทำให้ผู้คนสัญจรกันรื่นรมย์ขึ้น หรือยกตัวอย่างในเชิงปริมาณให้เห็นชัดๆ ก็มีผลงานของคุณกิตติณัฐ พิมพิขันธ์ นิสิตสถาปัตยกรรมผังเมืองที่ปรึกษา ที่ศึกษาพื้นที่โครงการย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองสองฝั่งถนนพระราม 1 พบว่าพื้นที่หลังคาของอาคารสูง 4 ชั้นขึ้นไปนับรวมกันได้ 202 ไร่ เกือบเท่าสวนลุมพินีด้วยซ้ำ

ในเชิงนโยบาย เรามีข้อจำกัดของโครงสร้างรัฐที่หน่วยงานยังไม่ทำงานร่วมกันในเป้าหมายระยะยาว มาตรการการใช้ที่ดินยังไม่เชื่อมโยงกับเรื่องการคลังและภาษี ทางออกสำคัญจึงน่าจะเป็นการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างแท้จริง แล้วให้เครื่องมือการทำงานที่สมน้ำสมเนื้อกับภารกิจในย่านนั้นๆ สังเกตได้ว่าเมืองส่วนภูมิภาคก้าวหน้ากว่ากรุงเทพฯ มาก เพราะโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นอำนวย ดูจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ที่มีคูเมืองเขียวสวยเป็นตัวอย่างได้

ต่อจากนี้หากใครบอกว่ากรุงเทพฯ นั้นยากจะมีพื้นที่สีเขียวดีๆ อย่างใครเขา บอกเขาด้วยประโยคทองของวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง ก็องดิด ไปเลยก็ได้ว่า “Cela est bien dit, mais il faut cultiver notre jardin” แปลว่า “ที่ท่านกล่าวมานั้นดีแท้ แต่เราก็จะทำสวนของเราต่อไป”

โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)


Contributor