01/03/2022
Public Realm
Think Again คิดใหม่ เพื่อเมืองที่ดีกว่า
บุษยา พุทธอินทร์
ปัญหาที่มีอยู่ในเมืองนั้นมีมากมาย ทั้งรถติด น้ำท่วม มลพิษทางเสียงและทางอากาศ การขาดพื้นที่สีเขียว ขาดขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คงต้องเริ่มต้นจากกระบวนการคิดอย่างพิถีพิถัน แล้วการคิดใหม่หรือ think again จะสามารถใช้กับเรื่องเมืองของเราได้อย่างไรบ้าง ชวนทุกท่านมาตั้งคำถามและชวนมองเมืองในมุมมองใหม่ เพราะปัญหาในเมืองของเราต้องอาศัยการคิดใหม่ ทำใหม่ ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
วันนี้ The Urbanis จะชวนคุณมาติดตามการบรรยายจากกระบวนวิชาโลกรอบสถาปัตยกรรมปี 5 นำเสนอโดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากกลุ่ม Betther Bangkok ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Think Again คิดใหม่ เพื่อเมืองที่ดีกว่า” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ชวนทุกท่านมาตั้งคำถามและชวนมองเมืองในมุมมองใหม่ เพราะปัญหาในเมืองของเราต้องอาศัยการคิดใหม่ ทำใหม่ ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
Challenges of the City ความท้าทายของเมือง
เวลาเรานึกถึงเมือง เรานึกถึงอะไร หลายคนอาจจะนึกถึงตึกระฟ้า รถไฟฟ้า ถนนหนทางต่างๆ แต่จริงๆแล้ว หัวใจของเมืองไม่ได้อยู่ที่สิ่งปลูกสร้าง ดังคำพูดของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ “What is the city but the people” แท้จริงแล้วหัวใจของเมืองคือผู้คน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้เห็นได้ว่า เมืองมีความท้าทายในการพัฒนาอยู่หลายประการ ซึ่งหัวใจหลักของความท้าของเมือง ได้แก่
1.Densely Populated เมืองต้องมีประชากรหนาแน่น
เมืองเป็น labor market การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแบ่งหลักๆ เป็นเรื่องการเดินทาง การทำงาน และที่อยู่อาศัย ปัจจุบันเรามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตจากลักษณะของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เมืองขยายตัว ทำให้ที่ทำงานกับที่อยู่อาศัยก็เริ่มห่างกัน คนส่วนใหญ่จึงใช้เวลาส่วนมากไปกับการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและที่ทำงานการ ซึ่งการที่จะทำให้คนในเมืองมีความสุขหรือมีเวลามากขึ้นก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักผังเมือง ยกตัวอย่างชุมชนป้อมมหากาฬในสมัยก่อน แสดงให้เห็นว่าในอดีต ชุมชนป้อมมหากาฬอยู่ใกล้กำพระราชวังซึ่งเป็นแหล่งงานของคนในชุมชน แต่จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน แม้ในเมืองจะมีประชากรย้ายออกมาอยู่ชานเมืองมากขึ้นเนื่องจากที่อยู่อาศัยในเมืองมีราคาแพง ทำให้แหล่งงานกับที่อยู่อาศัยอยู่ห่างกัน กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำ แต่ความแออัดสูง
2.Specialized Workforce ทุกคนมีหน้าที่เฉพาะตัว
หากเป็นต่างจังหวัด คนส่วนมากยังทำงานเกษตรกรรม ทำกับข้าว ปลูกบ้าน ทุกคนทำงานแบบ multifunction แต่คนในเมืองนั้นมีบทบาทที่เฉพาะตัว เปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองของเครื่องจักร หากเครื่องจักรหยุดทำงานเฟืองก็แทบจะไม่มีความหมาย ตรงนี้ก็เป็นความอ่อนแอหนึ่งของเมือง ยกตัวอย่าง หากเราอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเราไม่มีเงิน 10 บาท เราก็หาน้ำดื่มไม่ได้ ฉะนั้นการมีชีวิตรอดอยู่ในเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องงาน เราคือแรงงานเฉพาะด้านที่อยู่ได้ด้วยเงินเป็นตัวกลาง เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นภายในเมือง ก็มักจะเห็นกลุ่มคนอ่อนแอหรือกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ เราจะช่วยกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายของเมือง
3.Inequalities ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน
เมื่อที่อยู่อาศัยไกลแหล่งงาน ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่มีกำลังในการจ่ายค่าเดินทาง หรือหากจะอยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน ค่าใช้จ่ายของที่อยู่อาศัยก็สูงเกินไป ทำให้เกิดชุมชนแออัดกระจายตัวหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ เมืองจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง และทวีความรุนแรงขึ้นในสถานการณ์ที่โควิด 19 ระบาด
4.Physically Separated ถูกแบ่งแยกด้วยกายภาพ
แม้ว่าเมืองจะมีความหนาแน่นในระดับหนึ่ง แต่มันก็มีการแบ่งแยกด้วยลักษณะทางกายภาพ หลายๆ ครั้งเราจะเห็นภาพชุมชนแออัดอยู่ติดกับรั้วคอนโดมิเนียม ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเมืองถูกแยกด้วยรั้ว ทั้งที่เป็นเพื่อนบ้านกันแต่ไม่รู้จักกันเลย เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้ผสานกันได้ จริงๆ แล้วการเว้นระยะห่างหรือ social distancing ไม่ได้มีมาแค่ช่วงโควิดแต่มีมานานแล้วในสังคมเมือง แต่โควิดทำให้มันชัดเจนและรุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเมืองจะทำอย่างให้คนทุกคนอยู่อย่างมีความสุข และทำให้ผู้คนภายในเมืองมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายหนึ่งของเมือง
5.Vulnerable People กลุ่มคนเปราะบาง
เมืองมีกลุ่มคนเปราะบางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการซ้ำซ้อน ผู้สูงอายุที่ไม่มีงาน ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ แล้วสังคมหรือคนในชุมชนเหล่านี้ก็ดูแลกันเอง เมืองจะช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางนี้อย่างไร
กรอบนโยบายสู่การเป็นเมืองที่ดีขึ้น
จากความท้าทายต่างๆ ที่เมืองจำเป็นจะต้องเผชิญ เมืองจะมีวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ คือการมี Guiding Policies หรือกรอบนโยบายที่มีความยั่งยืน ความครอบคลุม และความยุติธรรมและเห็นอกเห็นใจ
- ความยั่งยืน (Sustainable) เราต้องไม่ทำเมืองให้เป็นภาระของเด็กรุ่นต่อไป ไม่ผลาญทรัพยากรในอนาคตมาใช้ ไม่ได้สร้างมลพิษหรือส่งต่อปัญหาให้คนรุ่นต่อไป การสร้างให้เมืองเกิดความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- ความครอบคลุม (Inclusive) ทุกคนต้องได้รับการดูแล กรุงเทพฯ มี Mega project มากมาย มีรถไฟฟ้าเชื่อมห้างเชื่อมคอนโด กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ แต่ไม่ได้น่าอยู่สำหรับทุกคน แต่เมืองไม่ใช่สำหรับบางคนอยู่ เมืองเป็นของทุกคน ฉะนั้นเมืองจึงต้องมีความ inclusive หรือเมืองต้องคิดถึงทุกคน ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนเปราะบาง
- ความยุติธรรมและความเห็นใจ (Fair and Empathy) เมืองต้องยุติธรรม ปัญหาของเมืองในปัจจุบันคือเมืองไม่ยุติธรรม บางครั้งทำให้เกิดความโกรธและความเกลียดชังมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีคลองลาดพร้าว ที่ภาครัฐต้องการให้ผู้คนออกจากคลองเพื่อใช้คลองระบายน้ำลดปัญหาน้ำเสีย แม้ว่าจะเป็นการตั้งที่อยู่อาศัยแบบผิดกฎหมาย แต่ด้วยความที่มีการอยู่อาศัยมากกว่า 40-50 ปีแล้ว การจะไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ไปเฉยๆ ก็จะส่งผลกระทบกับชีวิตหลายครอบครัว จึงจำต้องหาทางออกของเมืองที่ทำให้ไปด้วยกันได้ แก้ปัญหาด้วยการนำบ้านคนที่ติดริมคลองย้ายไปอยู่ชั้น 2 แทน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาของเมืองรูปแบบหนึ่ง บางครั้งถ้าเราใช้กฎหมายบังคับอย่างเดียวสุดท้ายจะไปได้ยาก จึงต้องมีความเข้าใจจิตใจแล้วดูแลซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้เมืองไปต่อได้
Think Again หากจะเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจาก “คิดใหม่”
การจะเปลี่ยนแปลงเมืองได้ เริ่มต้นจากความคิด จากหนังสือ “คิดใหม่ Think Again” ของนักเขียน Adam Grant คำว่า Think Again คือการสงสัยในสิ่งที่เรารู้ เราต้องฝึกตั้งคำถามจากสิ่งที่เราได้รับรู้มาอยู่เสมอ เราต้องอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เราไม่รู้ และ เราต้องปรับความคิดให้ทันสมัยตามข้อมูลใหม่
จากคำพูดของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ “ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง และคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ จะไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งอื่นได้เลย” อีกหนึ่งประโยคสำคัญมาจากหนังสือ Think Again “การทบทวนสิ่งที่เราเชื่อ ศรัทธา อาจจะเป็นสิ่งที่คุกคามความเป็นตัวตนของเรา ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า กำลังสูญเสียบางส่วนของตัวเราไป” เมืองหรือผังเมืองเองก็เช่นกัน เมืองจะเปลี่ยนไปไม่ได้เลยหากความคิดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในการเปลี่ยนแปลงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องไม่ยึดติด เราควรยึดถึงคุณค่าของทฤษฎีแต่มากกว่าตัวทฤษฎี หากมีการเปลี่ยนแปลงเราจะปรับตัวได้ดีขึ้น
การคิดใหม่สำคัญอย่างไร การคิดใหม่เป็นจุดเริ่มต้นหลายอย่าง เป็นเกษตรกรทำสวนกล้วย ที่มีการคิดใหม่มาใช้ ทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยปกติการขายกล้วยเป็นหวีค่อนข้างขายได้ยาก เพราะคนทั่วไปมักจะกินไม่ทัน เลยมีการคิดใหม่คือการขายกล้วยเป็นลูกเดี่ยวๆ แทน แล้วนำไปขายในเซเว่น ทำให้ขายกล้วยได้ง่ายขึ้น ราคาก็ถูกลงทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย
การคิดใหม่ของนักวางแผนเมือง
1. Individual Rethinking การ “คิดใหม่” ของแต่ละคน
การคิดใหม่ของแต่ละคนต้องเริ่มจากการพัฒนานิสัยของการคิดใหม่ (The Habit of Thinking Again) โดยวิธีที่เราคิดและสื่อสาร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท 1) นักเทศ (Preacher) คือการพยายามปกป้องความคิดของตัวเอง จะมีความยึดมั่น ศรัทธา ในความเชื่อของตนเอง คอยพร่ำสอนคนอื่นๆ ถึงความเชื่อนั้น 2) อัยการ (Prosecutor) คือการพยายามหาข้อผิดของอีกฝ่าย เพื่อหักล้าง โต้แย้ง และปกป้องความเชื่อของฝ่ายตนเอง 3) นักการเมือง (Politicians) คือการพยายามเอาใจคนส่วนใหญ่ อาจจะแค่เปลี่ยนคำพูดเพื่อโน้มน้าวคนแต่ไม่ได้เปลี่ยนความคิดจริงๆ ที่อยู่ในใจ 4) นักวิทยาศาสตร์ (Scientist) คือการตัดสินใจด้วยหลักฐาน ข้อมูล การทดลอง ทำให้เปลี่ยนความคิดได้ถ้ามีข้อมูลใหม่ ฉะนั้นเราต้องพยายามใช้โหมดของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้มาก นักผังเมืองต้องอาศัยการใช้หลักฐาน ข้อมูล เหตุผลเป็นตัวตัดสินใจ
ปัจจัยที่ทำให้เราไม่กล้าคิดใหม่ หลายๆ ครั้งมีสาเหตุมาจากคำสบประมาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ว่า วิธีนี้มันไม่ได้ผลหรอก เป็นไปไม่ได้ มันซับซ้อนไปฯลฯ ที่ทำให้เราไม่กล้าคิดอะไรใหม่ๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราไม่มีการคิดใหม่ ก็คือการที่เราติดอยู่ใน ภูเขาแห่งความโง่ (Mount Stupid) หรือก็คือเหตุการณ์ที่คนที่รู้น้อยมักจะคิดว่าตัวเองรู้มาก (Dunning-Kruger Effect) เมื่อเราคิดว่าตนเองรู้มากจนเกิดความมั่นใจที่ว่าเราเก่งแล้ว เราเก่งที่สุด ไม่จำเป็นต้องหาความรู้ใหม่ๆ เมื่อนั้นคือเราติดอยู่กับภูเขาแห่งความโง่ ฉะนั้นเราต้องยำเกรงความไม่รู้ของตนเองและต้องตั้งคำถามกับความรู้ที่เรามีอยู่ตลอด
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไม่เกิดการคิดใหม่คือ การติดอยู่ใน Echo Chamber หรือการที่เราอยู่แต่กับคนที่มีความคิดเหมือนกับเรา เสพแต่สื่อที่มีความคิดตรงกับเรา ซึ่งมันเป็นการตอกย้ำโลกทัศน์เดิมๆ จนทำให้เราไม่ได้รับรู้สิ่งใหม่ ไม่เกิดการตั้งคำถามกับความคิดของตนเอง หรือไม่ได้เกิดการเรียนรู้ความคิดของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น วงจรของการ “คิดใหม่” (The Rethinking Cycle) จึงเริ่มจากการถ่อมตน (Humility) ไม่คิดว่าตนเองเก่งที่สุด รู้มากที่สุด ต่อมาคือ มีความสงสัย (Doubt) มีความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) มีการค้นพบ (Discovery) รู้จักหาความรู้เพิ่มเติม
“ถ่อมตนต่อความรู้ที่มี ยำเกรงต่อความไม่รู้ อย่ายึดติดกับความรู้ที่มี ให้เชื่อมั่นในความสามารถในการแสวงหาความรู้ใหม่”
2. Interpersonal Rethinking การเปิดใจให้คนอื่น “คิดใหม่”
การจะทำให้คนอื่นคิดใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จริงๆ แล้วเราไม่สามารถทำให้คนอื่นคิดใหม่ได้ การคิดใหม่ต้องเกิดด้วยตัวเอง คนอื่นทำได้แค่ช่วยพยายามเปิดใจ เปรียบเสมือนการจูงม้าไปกินน้ำ แม้เราจะมาน้ำไว้ให้แต่สุดท้ายม้าจะกินหรือไม่กินน้ำก็อยู่กับตัวม้าเอง นักผังเมืองจึงจำเป็นต้องมีศิลปะในการโน้มน้าวคนเพื่อให้ผู้คนยอมรับและเชื่อในสิ่งที่เรากำลังพัฒนา การ “เปิดใจ” จึงเป็นเหมือนการ “เต้นรำ” ไม่ใช่การ “ต่อสู้” การเปิดใจไม่ใช่การหาจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามแต่คือการหาจุดร่วมที่มีร่วมกัน
นอกจากการเปิดใจแล้ว เราต้องมีการให้ทางเลือก ให้มีส่วนร่วมในคำตอบ อย่าบังคับ นักผังเมืองไม่ควรเอาคำตอบสำเร็จให้กับชุมชน แต่ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการหาคำตอบด้วยกัน มีการโน้มน้าวด้วยการฟัง (Persuasive Listening) แทนการบอกให้ทำอะไร ต้องรู้จักฟังความเห็นที่หลากหลายเพื่อหาคำตอบร่วมกัน
จากหนังสือ Nonviolent Communication ได้พูดถึงการสื่อสารแบบสันติ เริ่มจากการสังเกตความรู้สึกและความต้องการ ของตนเองและผู้อื่น แล้วค่อยๆ หาวิธีการร่วมกัน หลายครั้งของความขัดแย้งต่างๆ เกิดจากการที่เราเอาคุณค่าที่เราให้ความสำคัญ (Value Judgments)ไปตัดสินคนอื่น เกิดเป็น การตัดสินคนอื่นจากคุณค่าที่เรายึดถือ (Moralistic Judgments) เช่น เราชอบใส่เสื้อสีฟ้า ไม่ได้แปลว่าเราจะตัดสินคนที่ไม่ใส่เสื้อสีฟ้าว่ารสนิยมไม่ดีได้ ฉะนั้นในการทำงานเป็นนักผังเมืองที่ต้องเผชิญกับผู้คนมากมาย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จึงไม่ควรเอาคุณค่าของเราไปตัดสินคนอื่น แต่ควรเริ่มจากการโน้มน้าวและหาจุดร่วมให้ได้
เริ่มตั้งคำถามจากคำว่า How (อย่างไร) แทนการถามว่า Why (ทำไม) เช่น ทำไมไม่ฉีดวัคซีน เปลี่ยนเป็น ถ้าไม่ฉีดวัคซีนแล้วจะควบคุมการแพร่ของโควิดอย่างไร เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างไร เพราะการใช้คำว่า “อย่างไร” จะช่วยลดความขัดแย้ง ลดการใช้อารมณ์และช่วยให้ร่วมกันหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
3. Collective Rethinking การสร้างสังคมที่กล้า “คิดใหม่”
การสร้างสังคมที่กล้าคิดใหม่ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมที่ผู้คนมีความอยากรู้อยากเห็น หลายครั้งเราหาคำตอบที่ง่ายแต่ผิดมากกว่าคำตอบที่ยากแต่ถูกต้อง จากหนังสือ Original ของ Adam grant ได้พูดถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างสิ่งใหม่ๆ เริ่มจาก 1) มีความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) 2) อยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (Not accepting the default) 3) มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม (Balancing risk portfolio) 4) มีประสบการณ์ทั้งด้านกว้างและด้านลึก (Combination of broad and deep experience) สำหรับนักผังเมืองก็ต้องอย่าเชื่อสิ่งที่เคยเรียนมา ต้องอย่าเชื่อผังเมืองเก่า โดยไม่มีการตั้งคำถาม ต้องรู้ให้กว้าง รู้ในศาสตร์ที่หลากหลายไม่ใช่แค่ด้านผังเมืองอย่างเดียว เพื่อเกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น ต้องมองโลกแบบ Gray scale อย่าตัดสินอะไรเป็นขาวกับดำ ยอมรับจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละความเห็น เพราะเมืองและผู้คนมีมิติที่หลากหลาย เราต้องสร้างสังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง กล้าที่จะถาม กล้าที่จะเห็นต่างโดยไม่ถูกลงโทษ เริ่มต้นจากผู้นำที่เปิดกว้าง อ่อนน้อม ถ่อมต้น
How to create a Better City? เราจะสร้างเมืองที่ดีขึ้นได้อย่างไร
การสร้างเมืองให้ดีขึ้นสามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การบริการสาธารณสุขต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่มุมมองหนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาคือเรื่อง ความเข้มแข็งของ “ทุนทางสังคม (ประชาชน)”
ทุนทางสังคม คือเครือข่ายของประชาชน เอกชน ที่มีความผูกพันกัน ช่วยเหลือดูแลกัน มีค่านิยมร่วมกัน มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและของตนเอง
ภาครัฐมักมองประชาชนเป็นหนี้สิน เป็นภาระ จึงทำให้ภาคประชาชนไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเมือง แต่หากภาครัฐมองประชาชนเป็นทุน แล้วทำให้ประชาชนเข้มแข็งและนำเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เมืองก็จะดีขึ้นและเอาตัวรอดจากวิกฤตต่างๆ ได้
ซึ่งการจะสร้างภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เริ่มต้นจาก
1) Empower People มอบอำนาจให้ประชาชน
ทำอย่างไรให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมืองมากขึ้น ยกตัวอย่างปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณกว่า 13,664,241,270 บาท ซึ่งคิดเป็น 18.10% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากเมืองซีแอตเทิล (Seattle) ที่มีการให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะ โดยมีการแยกขยะตามถังแต่ละประเภทและแต่ละประเภทมีการเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน โดยแยกเป็น ถังขยะที่ไปฝังกลบ (Landfill) เก็บค่าใช้จ่ายแพงที่สุด ถึงขยะที่ย่อยสลายได้ (Food and Compost) และถังขยะรีไซเคิล (Recycle) เก็บฟรี ซึ่งประชาชนก็จำเป็นต้องแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ผลสุดท้ายทำให้จำนวนขยะที่ต้องฝังกลบมีจำนวนลดลงอย่างมาก
2) Trust ความไว้วางใจ
ภาครัฐต้องไว้วางใจประชาชน จากวิกฤตโควิด 19 ทำให้เห็นว่าภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหา เพราะจุดแข็งของทุนทางสังคม คือ มีข้อมูลเชิงลึก (Insight) เข้าใจปัญหา (Understand the problem) เข้าใจจิตใจชาวบ้าน (Empathy) ใช้ได้จริง (Practical) มีคนเก่งในชุมชน (Talents) ทำเพื่อการอยู่รอด (Real needs: Need to survive) มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ขยายได้เร็ว (Scalability) และมีความยั่งยืน (Sustainability) คนในชุมชนเข้าใจชุมชนของตนเองได้ดี เมื่อมีปัญหาก็ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว การที่คนในพื้นที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ ก็ทำให้เกิดความยั่งยืนได้มากกว่าการรอภาครัฐมาจัดการ ซึ่งภาครัฐเองก็อาจมีกำลังไม่เพียงพอในการเข้ามาจัดการกับปัญหาในพื้นที่ต่างๆ
ตัวอย่างทุนทางสังคมในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เช่นภาคประชาชนมีการรวมตัวกันทำอาหารแจก มีการทำตู้ปันสุขหรือรถปันสุขในการแจกจ่ายอาหาร หรืออย่างในพื้นที่คลองเตย มีการทำโครงการคลองเตยดีจัง ซึ่งเป็นคูปองแลกอาหาร มีการทำสายด่วนคลองเตย ทำแผนผังชุมชน และอีกมากมาย
การวางแผนเมือง สร้างทุนทางสังคม (Social Capital) ได้อย่างไร?
สุดท้ายแล้ว เมืองก็คือผู้คน นักผังเมืองจะวางแผนเมืองอย่างไรให้ทุนทางสังคมเข้มแข็ง ยกตัวอย่าง แนวคิดของ Jane Jacops ที่เน้นให้เมืองมีความหนาแน่นแต่ผู้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หรือตัวอย่างแนวคิด StrongTowns ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวให้เมืองหันมาลงทุนกับโครงการขนาดเล็ก มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มุ่งเป้าโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน และสร้างให้ท้องถิ่นมีความยืดหยุ่นและพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
การสร้างทุนทางสังคมที่เข้มแข็งต้องสร้างให้เกิดการผสานกันของภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ทำงานร่วมกัน มีการพัฒนาทั้งแบบบนลงล่าง (Top-down) หรือภาครัฐนำ และล่างขึ้นบน (Bottom-up) ภาคประชาชนขับเคลื่อน และมีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณโครงการ (Participatory Budgeting)
สุดท้ายนี้อ.ชัชชาติ ได้ฝากกลอนไว้ว่า
“คอยอ่อนน้อม ถ่อมตน ในความรู้
อย่าผยอง ว่าตัวกู นั้นยิ่งใหญ่
คอยยำเกรง ความไม่รู้ คู่กันไป
อย่าหยุดใฝ่ แสวงหา ปัญญาเดิม
ร่วมคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยใจเปิด
ร่วมให้เกิด ความสงสัย ให้ส่งเสริม
ร่วมตรวจทาน ทบทวน ความเชื่อเดิม
เพื่อให้เพิ่ม ปัญญาใหม่ ไว้แบ่งปัน
ขอคิดใหม่ ทำใหม่ ได้ประโยชน์
ลดความโกรธ คลายความเครียด สร้างความฝัน
Think again สร้างสิ่งใหม่ไปพร้อมกัน
ช่วยสร้างสรรค์ เมื่อดี ที่เป็นจริง”
การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis
ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center