25/02/2022
Public Realm
เมื่อข้อมูลเปิด เมืองจึงขับเคลื่อนการพัฒนาเร็วขึ้น
ธนพร โอวาทวรวรัญญู
ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ข้อมูล” และ “ข้อมูลเปิด” คงเป็นคำที่หลายคนเคยผ่านตาผ่านหู หรือหลายคนก็อาจจะโดนกรอกหูด้วยคำนี้ตลอดเวลา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคดิจิทัลภิวัตน์นี้ ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการวางแผนหรือการตัดสินใจของหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับย่าน เมือง หรือประเทศ
หากแต่ด้วยความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับ “ข้อมูลเปิด” เท่าไรนัก และอาจจะยังนึกไม่ออกว่าข้อมูลเปิดจะช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างไร วันนี้ The Urbanis เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับคำว่าข้อมูลเปิด เปิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเปิด ทำไมถึงต้องเปิดข้อมูล ทำไมเปิดข้อมูลแล้วช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้เร็วขึ้น และประเทศไทยอยู่ตรงไหนของการเปิดข้อมูล
ข้อมูลเปิดคืออะไร?
ข้อมูลเปิด คือ ข้อมูลที่เราสามารถนำไปใช้ได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และแบ่งปันต่อได้ แต่ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล และใช้งานข้อมูลตามขอบเขตที่เจ้าของข้อมูลหรืองานกำหนดไว้ อาทิ การห้ามใช้เพื่อการพาณิชย์ ที่หลายคนอาจจะพบบ่อย โดยข้อมูลเปิดนั้น ควรมีรูปแบบข้อมูลที่สะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อ สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ และควรอ่านได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนในด้านค่าใช้จ่าย ข้อมูลเปิดควรเปิดเป็นสาธารณะโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง หรืออย่างน้อยที่สุดคือค่าธรรมเนียมในการทำสำเนา หรือสนับสนุนการดำเนินการและการมีอยู้ของฐานข้อมูลนั้นๆ
ทั้งนี้ ไม่ว่าภาคส่วนใดก็สามารถแบ่งปันข้อมูลเปิดได้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ถือข้อมูลมากที่สุดและละเอียดที่สุด ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และสาธารณะชน ทุกภาคส่วนล้วนสามารถที่จะแบ่งปันข้อมูลได้ บนฐานที่ไม่กระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญอย่างมากในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนตลอดเวลา
เปิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเปิด?
การเปิดข้อมูลมีลักษณะที่สามารถช่วยนิยามการ “เปิด” อยู่ 3 ประการ คือ
1. ความพร้อมใช้งานและการเข้าถึง (Availability and access) : ข้อมูลเปิดจะต้องพร้อมใช้งานได้โดยภาพรวม และหากมีค่าใช้จ่ายควรอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผลไม่มากไปกว่าการสำเนา ข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบที่สะดวก ปรับเปลี่ยนได้ และสามารถดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต
2. การใช้ซ้ำและแจกจ่ายซ้ำ (Reuse and redistribution) : ข้อมูลเปิดจะต้องมีการอนุญาตให้สามารถใช้ซ้ำและแจกจ่ายซ้ำได้ รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ชุดข้อมูลเปิดร่วมกับข้อมูลชุดอื่นๆ ได้
3. การมีส่วนร่วมในระดับสากล (Universal participation) : ทุกคนต้องสามารถใช้งานข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำและแจกจ่ายซ้ำ โดยไม่ติดเรื่องข้อจำกัดใดๆ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ เช่น หากเป็นข้อมูลที่ไม่อนุญาตให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ (non-commercial) จะไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือข้อมูลนั้นอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างเช่น ใช้ในการศึกษาเท่านั้น ก็จะไม่สามารถนำไปใช้ได้
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมการเปิดข้อมูลจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของการเปิด เนื่องด้วยการจำกัดความที่ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนนั้น จะส่งผลต่อการนำข้อมูลไปใช้งานต่อ และส่งผลต่อการทำงานของทั้งระบบและองค์กรที่หลากหลาย ที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน (interoperability) อย่างเป็นรูปธรรม ในการนำข้อมูลไปใช้งานต่อยอดร่วมกับชุดข้อมูลอื่นๆ เพื่อเชื่อมชุดข้อมูลที่หลากหลายสู่การวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์อย่างรอบด้าน
ทำไมต้องเปิดข้อมูล? ทำไมเปิดข้อมูลแล้ว การพัฒนาจึงขยับเร็วขึ้น?
หลายคนคงเคยได้ยินคำเปรียบ “Data is the new oil” ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลเปรียบเสมือนน้ำมัน ที่มีมูลค่ามากในอดีต บริษัทใดมีข้อมูลจำนวนมากยิ่งมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่แม่นยำในการจัดทำแผนและตัดสินใจ หรือในปัจจุบันก็อาจจะต้องเป็นคำว่า “Data as a new common good” ที่ข้อมูลบางชุดควรเปิดสู่สาธารณะเพื่อใช้งานต่อยอดให้เกิดผลประโยชน์ร่วมของสังคม ที่จะมาเป็นฐานในการหารือ วางแผน ตลอดจนการตัดสินใจที่แม่นยำขึ้น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งในระดับย่าน เมือง และประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลเปิดที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ข้อมูลเปิดของภาครัฐ เนื่องจากข้อมูลของรัฐบาลเป็นทรัพยากรมหาศาลที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำไปใช้งานต่อยอดการพัฒนา จากการเป็นศูนย์กลางของการรวบรวมข้อมูล มากไปกว่านั้น คือ ข้อมูลส่วนใหญ่ของภาครัฐเป็นข้อมูลสาธารณะตามกฎหมาย ดังนั้นในการเปิดเผยและเผยแพร่โดยไม่กระทบต่อข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยนั้น ย่อมสามารถสร้างคุณค่าในหลากหลายมิติ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประการหลัก ประกอบด้วย
1. ความโปร่งใส่ (Transparency) : เป็นการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐตามนโยบายที่ประกาศให้ไว้กับประชาชน
2. การสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ (Releasing social and commercial value) : ในยุคดิจิทัลข้อมูลเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสร้างนวัตกรรม การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เผยแพร่สู่สังคมและเชิงพาณิชย์
3. การสร้างการมีส่วนร่วม (Participation and engagement) : ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ กับประชาชนมากขึ้น
4. การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (New knowledge from combined data) : การเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จากการรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพิ่มความกว้างและความลึกของข้อมูล ที่เอื้อต่อการนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ในแง่มุมใหม่ๆ ที่จะเป็นโอกาสสำคัญที่อาจทำให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การเปิดข้อมูลนั้นถือเป็นฐานสำคัญในการสร้างผลประโยชน์ร่วมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างความโปร่งใส การสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ การสร้างการมีส่วนร่วม และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่ล้วนแล้วเป็นการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกระดับ การเปิดข้อมูลนั้น จึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ช่วยให้เมืองสามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ เห็นจุดแข็ง ข้อจำกัด โอกาส และความท้าทาย ได้ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้คนในสังคมและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสามารถรวมความคิดได้อย่างกระชับและตัดสินใจได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเร็วยิ่งขึ้น
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของการเปิดข้อมูล?
จากข้อมูลของ Open Data Watch ที่มีการประเมินสถิติการเปิดข้อมูลของหลายประเทศทั่วโลก โดยประเมินจากชุดข้อมูลพื้นฐานที่ภาครัฐมีการจัดเก็บ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านประชากร เศรษฐกิจ แรงงาน สาธารณสุข การศึกษา อาชญากรรม เกษตรกรรม พลังงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในเกณฑ์ด้านวัฏจักรและความต่อเนื่องของการจัดเก็บข้อมูล ความเรียบร้อยของการบริหารจัดการข้อมูล คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ ไม่มีกรรมสิทธิ์ สามารถดาวน์โหลดได้ มีข้อมูลระดับเมตาดาต้า และมีข้อตกลงในการใช้งาน โดยข้อมูลในปี 2015 เปรียบเทียกับปี 2020 ของประเทศไทย มีความน่าสนใจ ดังนี้
- ภาพรวมในระดับโลกอยู่ลำดับที่ 76 และ 117 ตามลำดับ
- ภาพรวมในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ลำดับที่ 4 และ 8 ตามลำดับ
- ค่าคะแนนรวมอยู่ที่ 26 และ 44 คะแนน ตามลำดับ
- ค่าคะแนนความครอบคลุมของข้อมูลอยู่ที่ 33 และ 49 คะแนน ตามลำดับ
- ค่าคะแนนความเปิดของข้อมูลอยู่ที่ 20 และ 39 ตามลำดับ
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับค่าคะแนนที่สูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนข้อมูลที่ครอบคลุมและเปิดมากขึ้น แต่ช่วงของค่าคะแนนที่ประเทศไทยอยู่นั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังมีช่องว่างทางข้อมูลที่สำคัญอีกมากที่จำเป็นจะต้องเติมเต็มและเปิดเผย นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่า แม้ค่าคะแนนจะสูงขึ้น แต่การจัดลำดับทั้งในระดับโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถูกจัดลำดับลดลงไปมาก ในส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการเปิดเผยข้อมูลแล้ว แต่ก็ยังขาดศักยภาพที่จะแข่งขันให้เท่าทันกับประเทศอื่นๆ ในโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แซงหน้าประเทศไทยไปไกล ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจหมายรวมถึงการเสียโอกาสจากการใช้ข้อมูลเปิดที่จะมาส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในระดับเมืองและประเทศ
ท้ายที่สุดนี้ นอกจากการเปิดของข้อมูลแล้ว ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้องค์กรหรือบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้งานและต่อยอดการใช้ข้อมูลเปิดอีกด้วย เพื่อขยายผลประโยชน์จากการมีฐานข้อมูลเปิดต่อไป
ท่านสามารอ่านเพิ่มเติมเรื่องของข้อมูลเมืองในประเทศไทยได้ใน ก้าวข้ามวังวนและมายาคติ การขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล โดยคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ที่มาปลดล็อคให้เห็นถึงสถานการณ์การจัดเก็บข้อมูลและการใช้งานข้อมูลเมืองในประเทศไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
‘Data is the new oil’ การแข่งขันที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก