18/02/2022
Environment

ยะลา เส้นทาง…สู่ความยั่งยืน

บุษยา พุทธอินทร์
 


วันนี้ The Urbanis ขอมาเล่าสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองยะลาไปสู่ความยั่งยืน จากการบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 ในหัวข้อ ยะลา เส้นทาง…สู่ความยั่งยืน โดย คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิตบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

หวนกลับสู่ความเจริญ: ยะลาหลังยุคแห่งความไม่สงบ

เทศบาลนครยะลามีความเจริญทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่พอเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ความไม่สงบนี้ได้สร้างความเสียหายให้ยะลาอย่างมาก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างคนในเมืองกลายเป็นสิ่งที่ถูกทำลาย คนในเมืองที่ต่างวัฒนธรรมกันก็รู้สึกเป็นอริกับคนในกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ สิ่งนี้ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งภาพลักษณ์ของเมืองยะลาก็แย่ลง ประชาชนทั้งภายในและภายนอกมองว่ายะลาเป็นเมืองอันตราย และคนภายนอกก็ไม่อยากมาเที่ยว คนภายในก็อยากจะย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้ยะลาอย่างมาก รวมถึงทำให้ยะลาขาดทรัพยากรบุคคลเข้ามาช่วยพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตามช่วงปี 59-60 เหตุการณ์ความไม่สงบก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น การพัฒนาเมืองยะลาจึงเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟู (Recovery Phase )

การบริหารของเทศบาลนครยะลาในช่วงของการฟื้นฟู แบ่งได้ออกเป็น 3 กรอบนโยบายหลัก ๆ คือ การฟื้นฟูเมืองโดยใช้ต้นทุนเมือง การฟื้นฟูเมืองโดยใช้ยุทธศาสตร์ และการฟื้นฟูเมืองโดยใช้เทคโนโลยี

การฟื้นฟูเมืองโดยใช้ต้นทุนเมือง

กรอบนโยบายการฟื้นฟูเมืองโดยใช้ต้นทุนเมือง โดยยะลาไม่ได้มีนักการเมืองที่มีอำนาจมากพอที่จะเอางบประมาณจำนวนมากมาพัฒนาได้ ยะลาเลยต้องใช้ต้นทุนที่ตัวเองมีอยู่เพื่อพัฒนา ต้นทุนเมืองยะลามีอยู่ 5 ต้นทุน ได้แก่

  • ต้นทุนความสะอาด ยะลาขึ้นชื่อเรื่องความสะอาดอย่างมาก
  • ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ยะลามีพื้นที่สีเขียวเยอะในพื้นที่เทศบาลมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวสูงถึง 14.14 ตารางเมตรต่อคน และยังมีความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องโดยการออกนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้พื้นที่ว่างทุกแห่งเป็นพื้นที่สีเขียว นโยบายปลูกต้นไม้ปีละ 10,000 ต้น หรือนโยบายให้แต่ละครอบครัวปลูกต้นไม้กันคนละต้น เพื่อสร้าง sense of belonging ให้พวกเขาอยากที่จะดูแลต้นไม้ที่ตัวเองปลูก นอกจากนี้ยะลายังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก มีผลไม้หลายชนิดที่ขึ้นชื่อ เช่น ส้มโชกุน ทุเรียน มังคุด ลองกอง
  • ต้นทุนความเป็นระเบียบเรียบร้อย ยะลามีทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่เป็นระเบียบ มีการจัดระเบียบสายไฟและป้ายโฆษณา รวมถึงมีการจัดระเบียบการใช้ที่ดิน ผ่านการร่วมมือกันระหว่างเทศบาลและชาวบ้านด้วยการทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคืนยะลาให้คนยะลา โครงการจัดรูปที่ดิน
  • ต้นทุนทางวัฒนธรรม ยะลามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็มีทั้งชาวมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยพุทธ ความหลากหลายนี้สามารถนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจแบบ Creative ในเชิง Culture Economy ได้
  • ต้นทุนทางการศึกษา ยะลาถือเป็นตักสิลาของภาคใต้ เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่มีการศึกษาทุกรูปแบบ ขาดเพียงวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่กำลังผลักดันให้สร้างขึ้นอยู่

การฟื้นฟูเมืองโดยใช้ยุทธศาสตร์

เมื่อทราบถึงต้นทุนเมืองยะลาแล้ว การนำต้นทุนเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาจะอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ 3R ได้แก่ Restructure Repositioning และ Reimage

1) Restructure หรือการปรับโครงสร้าง จะทำในสามระบบคือ ระบบโลจิสติกส์ ระบบเศรษฐกิจ และ ระบบการศึกษา

  • การปรับโครงสร้างโลจิสติกส์ มาสาเหตุมาจากการเริ่มเปลี่ยน เทรนด์ด้านการขนส่งจากทางบกไปเป็นทางอากาศ ยะลาเป็นเมืองที่มีทางรถไฟผ่านก็เลยไม่อาจที่จะแข่งขันกับเมืองอื่น ๆ ได้มากเหมือนแต่ก่อน หาต้องการจะพัฒนา เทศบาลเลยต้องแก้ไขปัญหานี้เพื่อคงความเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของยะลาไว้ ผ่านการผลักดันโครงการต่าง ๆ เช่น รถไฟรางคู่สุไหงโกลก-ยะลา เพื่อดึงดูดให้คนมาเลเซียเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจยะลา โครงการถนนยะลา-เบตง โครงการท่าอากาศยานเบตงและการเชื่อมโยงท่าอากาศยานกับพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยทางรถไฟ
  • การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 2 นโยบายหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Cultural Economy) เช่น การจัดทำวันมาลายู (Melayu Day) หรือการจัดประเพณีชักพระ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนจากภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวในยะลา และนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมุ่งเน้นการเกษตรเพื่อทำให้ยะลาเป็นตลาดการเกษตรที่สำคัญของภาคใต้ ผ่านนโยบายต่าง ๆ คือ นโยบายสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้สามารถแข่งขันได้ นโยบายสนับสนุนผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น ๆ พร้อมสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมัน เช่น นโยบายสนับสนุนพืชที่กำลังโด่งดังเป็น Rising Star Product เช่น ทุเรียนที่คูเป็นรูปหัวใจ ทุเรียนสะเด็ดน้ำ หรือพืชที่มีโอกาสจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เช่น ลองกองยะลา หรือพืชทางเลือกที่ให้มูลค่าสูงอย่างกาแฟยะลา รวมถึงจัดประชุมวิชาการการเกษตรเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกร
  • การปรับโครงสร้างการศึกษา แบ่งเป็น 2 นโยบาย คือ การสร้างยะลาให้เป็นพื้นที่ดูงาน เช่น การดูงานด้านความสะอาด หรือการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจยะลา และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างทรัพยากรคน ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเยาวชนในเขตเทศบาลนครยะลา เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในยะลาได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองถนัด และสนใจ

2) Repositioning คือ การพยายาม Harmonise เมือง ผ่านการส่งเสริมในคนในยะลาไม่ว่าจะมีวัฒนธรรมความเชื่อแบบใดก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Man to nature)

3) Reimage หรือการปรับภาพลักษณ์เมือง โดยมี 3 ขั้นตอน ได้แก่

  • Re-thinking หรือการเปลี่ยนกรอบความคิดที่มองว่ายะลาเป็นเมืองแห่งความไม่สงบ โดยเริ่มจากคนในเมืองยะลาเอง วิธีการก็คือ พยายามทำให้คนยะลากล้าที่จะเดินทางไปที่ไหนก็ได้ในเมืองโดยไม่ต้องกังวล ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมปั่นจักรยานตอนกลางคืน หรือกิจกรรม Midnight สงกรานต์ โดยกิจกรรมเหล่านี้จะจัดตอนกลางคืนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนยะลาว่า แม้จะเป็นตอนกลางคืน ยะลาก็ปลอดภัยสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ และจะมีถ่ายทอดสดกิจกรรมที่จัดเสมอเพื่อส่งต่อความมั่นใจนี้ให้กับคนภายนอกยะลาด้วย
  • Re-freshment หรือการทำเมืองให้มีสีสันมากขึ้น มีการตกแต่งเมืองด้วยโคมไฟ และภาพวาดต่าง ๆ รวมถึงชักจูงให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการตกแต่งเมืองด้วยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ การทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ดึงดูดคนออกจากบ้านมาเที่ยวในเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเปลี่ยน mood & tone ของเมืองให้สดใสมากขึ้น คนที่อาศัยในยะลาจะได้มีอารมณ์ความรู้สึกที่สดใสมากขึ้น มีความหวาดระแวงน้อยลง
  • Re-event หรือการจัดกิจกรรมในยะลา เช่น งานวิ่งมาราธอน งานคอนเสริต์ Orchestra (TPO Concert) การแข่งขันชิงแชมป์กีฬาต่าง ๆ เป็นต้น

การฟื้นฟูเมืองโดยใช้เทคโนโลยี

นอกจากการพัฒนาโดยใช้ต้นทุนเมืองแล้ว เทศบาลยะลายังนำแนวคิดเรื่อง Smart City เข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองแบบ Smart City เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน โดยยะลาได้รับตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นโครงการยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (Yala People-Centric Smart City) ที่แสดงถึงความเป็นเมืองอัจฉริยะที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างประชาชนและเทศบาล ผ่านสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ได้แก่

  • Smart Governance – เทศบาลยะลาได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Yala Mobile Application เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองมากขึ้น รวมถึงสร้างความโปร่งใสของกระบวนการ โดยประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวในการเข้าถึงการบริการของเทศบาล รวมถึงรับข่าวสารต่าง ๆ เช่น การเดินทางของรถขยะ การเข้ารับบริการศูนย์ตรวจโควิด หรือการรับวัคซีน เป็นต้น การแลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การเข้ามาแสดงความเห็น รวมถึงร้องเรียนต่อเทศบาลด้วย platform แบบไลน์ และในอนาคตอาจรวมไปถึงการออกเสียงประชามติด้วย
  • Smart Economy – เทศบาลยะลาได้พัฒนาเศรษฐกิจเชิงเทคโนโลยี โดยสร้าง platform ที่ชื่อว่า “หลาดยะลา” ซึ่งเป็น platform คล้ายแอปส่งอาหารต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในยะลามีโอกาสเข้ามาค้าขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยะลาจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม และผู้ขายจะได้รับกำไรเร็วด้วย ในด้านการขนส่งก็จะใช้วินมอเตอร์ไซต์ สินค้าที่ขายนอกจากจะเป็นอาหารแล้ว การขนส่งอาหารสด หรือการบริการต่าง ๆ เช่น การตัดผม การทำสินเชื่อ ก็มีให้บริการเช่นกัน และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชนและแก้ไขปัญหาความไม่รู้ในเทคโนโลยี เทศบาลได้จัดอาสาสมัครชุมชนให้เข้าไปช่วยประชาชนสมัครเข้าไปส่วนหนึ่งของ platform นี้ด้วย
  • Smart People – เทศบาลยะลาได้พยายามพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการพัฒนาเสริมสร้างระบบการศึกษา โดยใช้แอปพลิเคชัน School Bright เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์ โดยบุคลากรและนักเรียนสามารถเช็คการบ้าน การเข้าเรียนได้ และในอนาคตกำลังพัฒนาระบบให้ผู้ปกครองถ่ายรูปหน้าลูกเวลาทำการบ้าน เพื่อนำไปใช้ประเมินการสอนของครูด้วย เพราะหากครูสอนดี เด็กก็จะทำการบ้านได้ และสีหน้าก็จะดีกว่า
  • Smart Energy – เทศบาลยะลาพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะ โดยใช้อากาศเข้าไปเผาไหม้สองรอบเพื่อให้หลงเหลือมลพิษน้อยที่สุด (Powermax Twin-fire Gasifier Technology) นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการพยายามค้นคว้า ทดลองเกี่ยวกับการนำกากที่ได้จากการหมักขยะที่เผาแล้ว ไปใช้ทำปุ๋ยต่อ เพื่อ close loop ของขยะ จะได้เกิด Zero Waste
  • Smart Living – เทศบาลยะลาได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ได้แก่ Smart Security ในตลาดที่เคยเกิดเหตุความไม่สงบ โดยนำ AI เข้ามาใช้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย เช่น Face Recognition หากประสบความสำเร็จก็จะขยายให้ทั่วทั้งเมือง Smart Wi-Fi เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่ถูกและเหมาะสม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่การค้าขายออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงช่วยควบคุมการระบาดของโควิด 19 ผ่านการใช้ติดตามผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย และเสาไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Pole) ที่สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การตรวจสอบค่า P.M. 2.5 ตรวจสอบสภาพอากาศ แจ้งอุบัติเหตุแก่รถที่สัญจรบนถนน เป็นต้น ปัจจุบันกำลังทดลองอยู่ 3 ต้น

นอกจากนี้ยะลายังมีโครงการ Yala Resilience City เพื่อเชื่อมระบบข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาในฐานข้อมูลเดียวกัน และประชาชนก็สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนี้เพื่อเข้ารับข่าวสารต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างทั่วถึงผ่านระบบ Chatbot และ Data Dashboard

เป้าหมายของการฟื้นฟู

เป้าหมายของกรอบนโยบายการฟื้นฟูทั้ง 3 นี้ แบ่งเป็น 6 ด้าน (6C) ได้แก่

  • Cleanliness คือการทำให้ยะลามีอากาศบริสุทธิ์ มีน้ำสะอาดล้อมเมือง และตัวเมืองเองก็สะอาดเรียบร้อย มีการนำหลัก Good Governance เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เมืองสะอาดเรียบร้อย และผลการดำเนินงานต้องแสดงบนฐานข้อมูลเปิด ให้ประชาชนได้รับรู้
  • Collaboration คือการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเมือง หรือการทำอาสาสมัคร เช่น การตั้งด่านเพื่อตรวจคัดกรองโควิด ผ่านเครือข่ายต่าง ๆ
  • Connectivity คือ การเพิ่มการเชื่อมต่อทั้งทางกายภาพด้วยการพัฒนาระบบ Infrastructure และทางออนไลน์ด้วยการพัฒนาเครือข่าย Wi-Fi
  • Culture คือ การสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้โดยการสร้าง Learning Ecosystem เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน
  • Competitive คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มาวิจัยเพื่อพัฒนาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
  • Comfort คือ การสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในเมือง และสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามเหมาะแก่การอยู่อาศัยด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สวนในเมือง การเพิ่มพื้นที่น้ำ การปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นที่พักผ่อนรวมถึงเพื่อลดอุณหภูมิในเมือง การพัฒนาระบบสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสำหรับคนยากจน และการสร้างสถานที่ออกกำลังกายให้กับประชาชน

ในท้ายที่สุดนี้ เมืองยะลาได้พยายามพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบได้เริ่มคลี่คลายลง การพัฒนานี้ได้ยึดปัจจัยสำคัญเป็นหลักในการพัฒนา คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในยะลา หากพัฒนาเมืองไปในทิศทางนี้ สุดท้ายก็จะมี Selected Person หรือก็คือ มีคนเลือกที่จะเข้ามาในยะลาไม่ว่าจะเพื่อทำงาน อยู่อาศัย หรือเพื่อกลับมาพัฒนาเมือง อันเป็นสัญญาณแห่งแห่งการกลับขึ้นมามาชีวิตอีกครั้งของเมือง และที่สำคัญอีกประเด็นก็คือ การพัฒนาต้องไม่ลืมการนำเทคโนโลยีเข้ามา เพราะเทคโนโลยีคือเทรนด์การพัฒนาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงจะช่วยพัฒนากระบวนการพัฒนาเมืองบนฐานของคนให้สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็คือเส้นทางสู่ความยั่งยืนที่ยะลากำลังก้าวไปในอนาคตนั้นเอง

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor