14/07/2020
Environment
หมองกลิ่นเมืองเหงา
The Urbanis
ภาพข่าวที่ชวนให้สะเทือนใจเมื่อไม่นานมานี้คือ ภาพแม่ค้าที่ตลาดนั่งลงกับพื้นถนนไหว้อ้อนวอนผอ.เขต กับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ออกมาไล่รื้อแผงลอยค้าขายที่ตลาดลาวย่านคลองเตยในช่วงเวลาประมาณสามทุ่ม ในขณะที่เวลาสี่ทุ่มคือเวลาเคอร์ฟิว ถ้อยคำร้องทุกข์ของพ่อค้าแม่ค้าคือ ตอนนี้ก็ทำมาหากินยากอยู่แล้ว ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และถูกซ้ำเติมจากมาตรการปิดเมืองเพื่อรับมือกับโควิด 19 ทำไมกทม. ถึงจะมาบีบให้คนทำมาหากินที่ลำบากอยู่แล้วต้องเผชิญกับสภาวะจนตรอกมากขึ้น
ส่วนทางกทม. นั้นก็มีคำอธิบายว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ทวงคืนทางเท้า” ของกทม. โดยอธิบายว่า ทางเท้านี้ถูกยึดไปเป็นตลาดมานานกว่า 30 ปี มีความพยายามไล่รื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เดือนพฤษภาคมพยายามอีกครั้งก็ทำให้เราเห็นภาพชวนสะเทือนใจ นั่นคือ ภาพแม่ค้านั่งกลางถนนยกมือไหว้อ้อนวอนขอพื้นที่สำหรับทำมาหากิน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการปะทะกัน ระหว่างคนค้าขายบนพื้นที่ที่ฉันอยากจะเรียกมันว่าพื้นที่อันกำกวม นั่นคือ พื้นที่ริมถนน และทางเท้า กับเทศกิจและกทม. (และจังหวัดอื่นๆ ด้วย) นอกจากจะไม่ใช่ครั้งแรกแล้ว ภาพแม่ค้าวิ่งหนีเทศกิจยังกลายเป็นภาพคลาสสิค สถาปนาพล็อตในหนัง ในการ์ตูน ในเรื่องสั้น ในละคร มีชีวิตอยู่ใน pop culture ของไทย จนเรารู้สึกไปโดยปริยายว่า มีทางเท้าก็ต้องมีรถเข็นขายของ มีรถเข็นขายของก็ต้องมีเทศกิจ เป็นเนื้อคู่กระดูกคู่กัน
คำถามของฉันคือ ทำไมเราปล่อยให้มันกำกวม? และรถเข็น หาบเร่ แผงลอย ทั้งหมดในประเทศไทยมีอยู่ ดำเนินการอยู่โดยปราศจาก “การจัดการ” จริงๆ หรือ?
ตลาดบนทางเท้าหลายแห่งอยู่มานานเกิน 10 ปี ตลาดเหล่านี้เป็นแค่การที่ใครสักคนเข็นรถออกมาขายของ และมีคนอื่นๆ เข็นรถมาขายข้างๆ จนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาก็กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นกลับมาขายใหม่ เป็นธรรมชาติ ปราศจาก “การจัดการ” หรือ “จัดระเบียบ” จริงๆ หรือ?
ระเบียบของหาบเร่ แผงลอยทุกแห่ง อย่างน้อยต้องมีคน “จัดการ” ว่าใครขายที่จุดไหน ไม่ไปเข็นขายทับที่คนอื่น ใช้น้ำใช้ไฟกันอย่างไร จัดการขยะกันอย่างไร แต่ที่น่าฉงนคือ เราไม่มีวันรู้ว่า ใครคือผู้ “จัดการ” ย่านการค้า หาบเร่ แผงลอย แต่ที่แน่ๆ คนที่จัดการ ไม่ใช่เทศกิจ ไม่ใช่กทม. ไม่ใช่หน่วยงานราชการแน่นอน
แล้วก็น่าทึ่งอีกนั่นแหละว่า จะมีคนไทยสักกี่คนที่กล้าพูดว่า ไม่เคยกินอาหาร หรือซื้อของจากหาบเร่ แผงลอยที่ “ผิดกฎหมาย” เหล่านี้
เสน่ห์อย่างที่สุดของร้านค้ารถเข็น หาบเร่ แผงลอย คือ ความเปิดเผย และเข้าถึงง่าย เราสามารถเห็นการผัด ต้ม แกง การปรุงวัตถุดิบ เห็นไปถึงผ้าขี้ริ้ว เห็นแมลงสาบที่วิ่งอยู่ใต้โต๊ะ เห็นหน้าตาอารมณ์ของคนขาย ได้ยินเสียง ได้สูดกลิ่น เห็นอาหารของโต๊ะข้างๆ ได้ยินเสียงบทสนทนาหลากหลายเซ็งแซ่ การตัดสินใจเข้าไปสั่งบะหมี่น้ำสักชามของร้านแผงลอยบนฟุตบาทนั้นสามารถตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการตัดสินใจจะเข้าไปนั่งกินในร้านสักร้าน ขณะเดียวกันก็เป็นการตัดสินใจที่ปราศจากความคาดหวังอะไรมากมายด้วย
นั่นคือ เรารู้ว่าทางเท้าควรจะเป็นทางเท้า ไม่ใช่ที่ขายของ แต่เราก็มีชีวิตอยู่โดยขาดร้านขายของและขายอาหารบนทางเท้าไม่ได้
ไม่ใช่แค่นั้น ททท. หรือ หน่วยงานของรัฐบาล ทั้งๆ ที่รู้ว่าการมีอยู่ของร้านค้า หาบเร่ แผงลอย สตรีทฟู้ดทั้งหลายนั้น “ผิดกฎหมาย” แต่ก็ได้หลับตาข้างหนึ่ง ในยามที่อยากทำมาหากินกับมัน ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายรูปสตรีทฟู้ดสุดชิคสุดฮิปกิ๊บเก๋ เพราะโลกทั้งใบกำลังเห่อสตรีทฟู้ด และนักท่องเที่ยวทั้งปวงก็ไม่ได้อยากดูวัดดูรำไทยเท่ากับมาเดินกินสตรีทฟู้ด ดื่มเบียร์ และเคล้าตัวเองไปกับความโสมมแบบโลกที่สามอันแสนเอ็กโซติก
หนักขึ้นไปอีก ฟังก์ชันของทางเท้าในเมืองไทยก็ไม่เคยถูกออกแบบและก่อสร้างมาเพื่อ “เท้า” ของคนเดินถนน สร้างมาในฟังก์ชันเดียวกับคนที่สักแต่ใส่หมวกกันน็อคเพื่อไม่ให้ตำรวจจับ ไม่ได้ใส่เพื่อความปลอดภัยอะไร
ทางเท้าในเมืองไทยและกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน เหมือนไม่เคยถูกออกแบบมาให้คนเดินจริง แต่จำเป็นต้องมีเพราะมันเป็นภาคบังคับของการทำถนน โลกทั้งโลกเขาต้องมีทางเท้ากัน ถ้าเราไม่มีจะดูบาร์บาเรี่ยน มีก็มีวะ ก็ทำให้ทางเท้าไทยมีไปอย่างนั้นเองสักแต่มี แต่ไม่เคยคำนึงว่าเดินได้จริงไหม ใช้งานได้จริงไหม ตอบสนองคนเดินจริงไหม อีกทีก็คือเห็นว่า คน “เดิน” ทางเท้าก็มีแต่คนจน ไม่ใช่คนที่เราต้องดูแลเอาใจใส่อะไรนัก ให้เดินก็บุญแล้ว
เราจึงมีทางเท้าที่กระโดกกระเดกชวนให้ข้อเท้าพลิกหรือขาหัก ทางเท้าที่กลายเป็นที่วางกระถางต้นไม้ ทางเท้าที่ขุดๆ ฝังๆ วนไป สุดท้ายทางเท้ากลายเป็นจอดรถ กลายเป็นสวนหน้าบ้านของคนอยู่ตึกแถว จนสุดท้ายกลายเป็น “ตลาด” ริมทางที่ต้องมี “ผู้จัดการ” คุม คุ้มครอง และเก็บผลประโยชน์อยู่
ช่วงล็อคดาวน์โควิด หาบเร่ แผงลอย อาหารริมทาง รถเข็นขายของ สตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ หายไปเกินครึ่ง และฉันได้กลิ่นความหม่นหมอง สัมผัสได้ถึงความหงอยเหงาของเมืองอย่างชัดเจน
ไม่มีผู้คนเดินเหงื่อซก เบียดเสียดบน “ทางเท้า” ที่มีสภาพเป็นตลาดเพื่อเสาะหาของกินก่อนไปทำงานหรือก่อนกลับบ้าน ไม่มีควันไฟจากเตาผัดไทยหอยทอด ไก่ย่าง ปลาเผา ไม่มีกลิ่นผัดกะเพราฉุยฉายชวนให้จาม ไหนจะลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย้อมสีเหลืองย่างระอุบนเตาถ่าน หายไปแม้กระทั่งฝูงหนูและแมลงสาบ
เปิดเมืองมาอีกที ฉันไม่รู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าที่เคยทำมาหากินบน “ทางเท้า” เหล่านี้จะเหลือกี่รายที่ยังมีชีวิต ไม่ฆ่าตัวตาย และยังมีทุนมีแรงมาค้าขายต่อ
เปิดเมืองมาอีกที ไม่รู้ว่าลูกค้าที่เคยเดินเบียดเสียดหาของกินจากหาบเร่ รถเข็นข้างถนน มนุษย์เงินเดือนแต่งตัวสวยหรู แต่เงินในกระเป๋าทำได้แค่พึ่งแกงถุงจากร้านข้างทางประคองชีวิตนั้นจะเหลืออยู่อีกสักกี่คน และอีกกี่คนตกงานไปแสวงหาชีวิตใหม่อยู่ไหนกันบ้าง
ส่วนทางเท้าในเมืองของเราก็ยังคงเป็นพื้นที่ปริศนาและมีเงื่อนงำว่า มันเป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอะไรกันแน่?
และเอาเข้าจริงๆ แล้วทางเท้าสามารถเป็นได้ทั้งตลาด เลนจักรยาน และทางเดินของผู้คน โดยไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลยก็ได้
เพียงแต่ไม่มีใครคิดจะทำเพราะ “เมือง” นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยให้คนมีความสุข สะดวกและสบาย แต่ออกแบบมาให้ทุกอย่างมันกำกวม ยาก และเต็มไปด้วยอุปสรรค เพื่อหล่อเลี้ยงมาเฟีย ผู้จัดการของเมืองให้ทำมาหากินอิ่มหมีพีมันเรื่อยไป