15/01/2020
Life
‘ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์’ กับเสียงในเมือง : คนไทยคุ้นเคยกับเสียงดังที่เป็นอันตรายมากเกินไปหรือเปล่า
The Urbanis
เสียงโฆษณาบนรถไฟฟ้าเป็นหัวข้อยอดฮิตที่มีเสียงบ่นจากผู้ใช้งานอยู่เสมอ อาจจะเพราะไม่เคยได้รับการแก้ไขเสียที หรือเพราะมีเสียงที่แตกออกเป็นหลายความคิดเห็นจนหาข้อสรุปไม่ได้
เสียงโฆษณาจะอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เสียงหนึ่งที่เรามักมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ ‘เสียงเตือนปิดประตูบนรถไฟฟ้า’
หลายคนไม่รู้เลยว่าเสียงเตือนปิดประตูบนรถไฟฟ้านั้น มีระดับความดังที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน หากสัมผัสเป็นเวลานานตามข้อกำหนดระดับเสียงที่ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวข้อวิจัยที่นักศึกษาของวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเคยศึกษาเอาไว้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงชวน ‘ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์’ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ที่ดูแลโปรเจกต์ดังกล่าว มาร่วมสนทนากัน
ขจรศักดิ์เรียนจบด้านการอำนวยเพลงขับร้องประสานเสียงจาก California State University, Los Angeles สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งตอนนี้เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สมาคมเสียงและการสั่นสะเทือนแห่งประเทศไทย’ ร่วมกับอาจารย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและเอกชนหลายท่าน เพื่อผลักดันปัญหาเรื่องเสียงต่างๆ ที่คนเมืองต้องเจอ
หัวข้อการสนทนาในครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเสียงรบกวนบนรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังพูดคุยถึงปัญหาของเสียงรบกวนต่างๆ จากที่อยู่อาศัย จากยานพาหนะ และเสียงที่ไม่ได้ยินจากกังหันลม (Wind Turbine Infra Sound) รวมถึงอันตรายที่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดอย่างการใส่หูฟัง
เสียงดัง เเค่ไหนเรียกว่า ‘มลพิษทางเสียง’ ในเมื่อบางครั้งความดังนั้นน่ารำคาญหรับเรา แต่กลับเป็นสิ่งปกติสำหรับคนอื่น
ข้อกําหนดขององค์การอนามัยโลกสําหรับระดับเสียงที่ปลอดภัยคือ ไม่เกิน 80 เดซิเบลเอ เมื่อสัมผัสวันละ 8 ชั่วโมง แต่เสียงที่ดังเกินกว่าค่าดังกล่าวก็ยังสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นได้ เพียงแต่จะต้องลดจำนวนเวลาที่อยู่กับเสียงนั้นลง แต่ถ้าระดับเสียงที่ดังมากกว่า 120 เดซิเบลเอ ขึ้นไปแนะนำให้หลีกเลี่ยงจากพื้นที่นั้นทันที เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้หูหนวกสูงมาก หรือหากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณนั้นก็ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงส่วนบุคคล อย่างคนที่ทำงานโบกเครื่องบินในสนามบิน เขาจะมีที่ครอบหู (Earmuffs) สำหรับกันเสียงโดยเฉพาะเลย ส่วนระดับเสียงที่มีค่าต่ำกว่านั้นแล้วเรารู้สึกว่ารบกวน บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากเรื่องระดับเสียงที่ดังเกินไป แต่อาจมีที่มาจาก Background Noise ที่ดังผิดปกติที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น
ผมขอยกตัวอย่างว่า ตอนนี้เรานั่งอยู่ในร้านอาหาร เราไม่รู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินนั้นดังเกินไปเพราะยังไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกผิดปกติ แต่ถ้าเราอยู่ๆ หัวเราะขึ้นมาดังลั่น คนทั้งร้านเขาก็จะเริ่มมองแล้วว่าเราเสียงดัง ทั้งที่เสียงโดยรวม ณ ตอนนี้มันก็ดังระดับหนึ่ง (มีเสียงเพลงเปิดคลอ เสียงเด็กหยอกล้อกัน และเสียงกระทบของช้อนส้อมกับจาน) แต่มันเป็นความดังที่เรารู้สึกชิน ตรงนี้อาจเป็นตัวอย่างอีกมุมหนึ่งที่ว่าทำไมในโรงงานที่มีระดับความดังที่อันตรายต่อการได้ยินแต่คนงานก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันดังจนเป็นอันตราย ก็เพราะว่าเขาคุ้นเคยกับระดับความดังนี้ติดต่อกันยาวนานจนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
แต่การที่เราจะรู้สึกว่าเสียงมันดังเกินไปแล้วนั้น หนึ่งผมว่าต้องเกิดจากการรู้สึกรำคาญก่อน รู้สึกว่าทำไมบ้านนี้เสียงดังข้ามมาบ้านเรา คือ คนเราจะรับรู้บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันอยู่นิ่งๆ ของมันเป็นปกติเราจะไม่รู้สึกอะไร ถ้าเราไปห้างสรรพสินค้าเสียงก็จะดังเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่สามารถเดินไปบอกใครว่าเงียบๆ หน่อยได้ไหม ทางกลับกัน หากเป็นห้องสมุดที่มันเงียบสนิท หากอยู่ดีๆ เราเข้าไปเปิดเพลงจาก YouTube ดังมาก ก็จะเป็นการรบกวนคนอื่น หรือถ้าเราเข้าไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ที่เสียงดังมาก เราไม่เคยรู้เลยว่าเราใช้เสียงพูดดังขนาดไหนจนต่อเมื่อเราออกมาแล้วเจ็บคอเพราะตะโกนพูดกับเพื่อนหรือหูอื้อเพราะเสียงดนตรีที่ดังเกินไป (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า Background Noise ของแต่ละที่อยู่ตรงไหน
หากเป็นที่อยู่อาศัยคนก็จะร้องขอเยอะ เพราะว่ามันเป็นความเป็นส่วนตัว เป็นสิทธิของเรา แล้วก็เป็นเรื่องที่นิติบุคลที่อยู่อาศัยต้องคอยจัดการตลอด ผมขอยกเคสหนึ่งที่ผมเคยเจอกับตัวเองตอนเรียนอยู่แคลิฟอร์เนีย มีบ้านตรงข้ามเขาซ่อมครัวซึ่งก็ต้องรื้อหลังคาอะไรเต็มไปหมด แล้วเสียงก็ดังตั้งแต่แปดโมงเช้า แต่สิ่งหนึ่งเขาทำให้เรารู้สึกดี คือ เขามีการ์ดมาและก็ของเล็กๆ น้อยๆ มาเซ่นเรา แต่คุณอาที่ผมอาศัยอยู่ด้วยเขาบอกผมว่า ที่บ้านตรงข้ามทำอย่างนี้เพราะเขากลัวเราไปฟ้องมัน และที่ไทยจะไม่มีการให้การ์ดอะไรเป็นการขอโทษเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้
คิดว่าทำไมเรื่องเสียงถึงเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉยในสังคมไทย
เพราะปัญหาเรื่องเสียงอาจไม่ใช่ความลำดับความสำคัญหลักของสังคมบ้านเรา ผมมีเพื่อนอาจารย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มาหลายปี ช่วงที่อาจารย์ท่านนี้มาทำงานใหม่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ วันใดที่เครื่องบิน Landing บนรันเวย์ที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย วันนั้นจะได้ยินเสียงเครื่องบินดังมาก ดังแบบต้องหยุดบทสนทนาให้เครื่องบินผ่านไปก่อน อาจารย์ท่านนี้จึงถามว่า “พวกคุณอยู่กับระดับเสียงที่ดังอย่างนี้ได้อย่างไร?” ผมก็นิ่งคิดสักครู่แล้วตอบว่า “นั่นสิ เราอยู่กับมันมานานจนชินแล้ว” อาจารย์ท่านนั้นจึงตกใจเล็กน้อยและตอบกลับมาว่า “อาจเป็นเพราะเรายังห่วงเรื่องปากท้องกำลังหาเลี้ยงชีพอยู่ จนปัญหาเรื่องเสียงกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ”
ผมก็ยังไม่เคยเห็นเคสที่ตำรวจจับเพราะใครทำเสียงดังเกินไป มีแต่ผลจากเสียงดังทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายกันแบบเคสงานบวชที่รังสิตจนตำรวจต้องเขามาดำเนินการ ตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าปัญหาเรื่องเสียงถูกเพิกเฉยจากสังคมไทยไปเสียทีเดียว เพราะตอนนี้เพื่อนอาจารย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเสียงหลายท่านกำลังทำเรื่องจัดตั้ง ‘สมาคมเสียงและการสั่นสะเทือนแห่งประเทศไทย’ ขึ้น
หนึ่งในนั้นมีพี่นักมาตรวิทยาท่านหนึ่งทำงานอยู่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้เล่าว่ามีโอกาสทำงานวัดมลพิษทางเสียงร่วมปฏิบัติการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมควบคุมมลพิษ
มีการลงพื้นที่เพื่อจับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่ออกมารวมตัวแข่งรถในทางสาธารณะบริเวณถนน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก พี่เขาเล่าถึงเรื่องการตรวจวัดระดับเสียงท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ที่ดังเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด (95 เดซิเบลเอ) ตรงนี้จึงเป็นการทำงานที่เห็นผลกับตาว่ามันดังเกินไปนะ ตำรวจจึงตรวจยึดรถจักรยานยนต์และควบคุมตัวเด็กและเยาวชนที่ฝ่าฝืนคำสั่ง
หรือขยับไปอีกนิดมีโปรเจกต์หนึ่งคือ กรณีเสียงรบกวนจากบิ๊กไบค์ที่ขับขึ้นไปบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนเจ้าหน้าที่เขาสังเกตว่าเสียงรถเริ่มไปรบกวนสัตว์ป่าและนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ช้างเครียด เจ้าหน้าที่จึงต้องตั้งจุดตรวจก่อนขึ้นเขาใหญ่เพื่อวัดความดังของท่อ หากมีเสียงดังเกินจะถูกห้ามเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันความปลอดภัยทั้งสัตว์ป่าและป้องกันการสร้างความรบกวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสงบในการพักผ่อน
ช่วยพูดถึงสมาคมเสียงที่กำลังตั้งขึ้นมาหน่อยได้ไหมว่าตอนนี้ดำเนินการถึงขั้นตอนไหน
ตอนนี้เราตั้งในทางพฤตินัย แต่ในทางกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ หนึ่งในบรรดาหลายเรื่องที่เราต้องการผลักดันคือ เรื่อง Noise Control หรือ การแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงที่สร้างความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับคนโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย เช่นในคอนโด ประเทศไทยไม่เคยมีกฏหมายหรือข้อกำหนดว่าฉนวนกันเสียงที่ใช้ในการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัยนั้นควรมีค่าระดับการส่งผ่านของเสียง หรือ STC (Sound Transmission Class) เท่าไร พูดให้เข้าใจง่ายได้ว่า ผู้คนที่เกี่ยวของกับการออกแบบอาคารนั้นมักไม่สนใจว่าผนังหรือพื้นของที่อยู่อาศัยนั้นสามารถป้องกันเสียงไม่ให้เล็ดลอดไปยังห้องข้างๆ ได้มากน้อยเท่าไร
มีกรณีตัวอย่างข้อกำหนดของ Australia’s guide to environmentally sustainable homes ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ค่า Minimum reduction index (RW) ของพื้นที่อยู่อาศัยควรมีค่าเท่ากับ 50 ค่า RW ของผนังกั้นระหว่างห้องน้ำ ห้องซักรีด ห้องครัว หรือห้องที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ติดกันควรมีค่าเท่ากับ 50 BCA (Building Code of Australia) RW แนวคิดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในงานออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย
เราเคยคุยในที่ประชุมผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเสียงและการสั่นสะเทือนแห่งประเทศไทยถึงขั้นที่ว่า เอาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มีเปิดสอนในประเทศไทยมากางดูว่าวิชาเกี่ยวกับเสียง เช่น Architectural Acoustics หรือ Room Acoustics นั้นอยู่ในหลักสูตรกี่ตัว ก็ปรากฏเป็นเพียงหัวข้อหนึ่งในวิชาการออกแบบเท่านั้น สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ก็เข้าใจสถาปนิกผู้ออกแบบเพราะมันไม่มีกฎหมายควบคุม เขาจึงไม่รู้ว่าจะทำกำแพงให้เก็บเสียงกันเล็ดลอดที่มีต้นทุนแพงกว่าทำไม เพราะกำแพงแค่นี้มันก็อยู่ได้แล้ว เราก็เลยต้องไปลุ้นเอาว่าข้างห้องเราจะเสียงดังไหม (หัวเราะ)
บางทีเราจะคิดว่าอยู่ในห้องก็ไม่ได้ยินใครแล้ว ซึ่งจริงๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่า แล้วเสียงที่มันลอดออกมา มันลอดออกมาได้ยังไง เหตุผลก็เพราะเสียงมันคือคลื่น มันเดินทางผ่านตัวกลาง ตัวกลางก็คืออากาศ แล้วเปลี่ยนโมเลกุลด้วยการสั่นสะเทือนผ่านตัวกลางไปยังผนังและทะลุมาถึงหูเรา
ถ้าเสียงมันชนผนังแล้วสลายไปหมดหรือสะท้อนกลับก็จบ แต่ส่วนใหญ่พอมันชนแล้วมันทะลุ จึงเป็นที่มาว่าทำไมห้องข้างๆ ปิดประตูแล้วเสียงดังถึงสะเทือนมาห้องเรา หรือบางครั้งในอาคารออฟฟิศที่แอร์รวม ทำไมเราพูดในห้องเราแล้วเสียงไปโผล่ห้องเจ้านาย เหตุก็เพราะว่าเสียงมันเดินทางขึ้นท่อแอร์ขึ้นไปได้ แต่เสียงไม่ได้ผ่านตัวกลางไปได้ทุกความถี่ ยกตัวอย่างเวลาผมขับรถขึ้นทางด่วนไปแถวหมอชิตมันจะมีคอนเสิร์ตลูกทุ่งอยู่งานหนึ่ง ถ้าเราไม่เปิดกระจกจะได้ยินเสียงเบสเข้ามาก่อนเพราะเสียงเบสความยาวคลื่นมันกว้าง มันเลี้ยวเบนเข้ามาได้ พูดง่ายๆ คือทะลุมาได้ แต่เสียงสูงความยาวคลื่นมันสั้น จึงเลี้ยวเบนไม่ได้ไกล
กลับไปเรื่องเสียงในที่อยู่อาศัยว่ามันก็ไม่ได้มีทุกความถี่เสียงที่ลอดเข้ามา เพราะฉะนั้นต้องมององค์รวมด้วยว่าเราจะจัดกับเสียงที่ความถี่ย่านไหน ถ้าเราบอกว่าเราจะทำคอนโดที่กันความถี่ย่านของเสียงพูดช่วงประมาณ 80 Hz ขึ้นไปเขาก็จะใช้วัสดุซับเสียงที่ค่าดังกล่าว แต่ต่ำกว่านั้นก็ลอดเข้ามาได้ เราจึงต้องดูว่าเสียงมีต้นกำเนิดมาจากไหน และมีความถี่เท่าไรด้วย
นอกจากเรื่องที่กล่าวไป ยังมีเรื่องฟอะไรอีกบ้างที่สมาคมเสียงอยากจะผลักดัน
จริงๆ มันมีหลายส่วน คือพูดง่ายๆ ก็ผลักดันการแก้ปัญหา Pain point ที่เราต้องเจอ หรือการให้การความรู้แก่ชุมชนอย่างเช่น พลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม ในบ้านเราหากดูตามแผนที่ประเทศไทยแนวลมผ่านจะพบว่าเรามีการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนั้น เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศไทย ทำให้เรามีความเร็วลมเฉลี่ยของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง – ต่ำ (ความเร็วลมเฉลี่ยต่ำกว่า 4 เมตร/วินาที) แต่ประเด็นคือกังหันลมหมุนทีหนึ่งมันเกิดเสียง แต่เป็นเสียงที่หูไม่ได้ยิน หรือที่เรียกว่า Infra Sound อธิบายก่อนว่า ความถี่ช่วงที่หูของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ก็คือความถี่ในช่วง 20 – 20000 Hz ซึ่งเรียกว่า sound แต่ความถี่ที่ต่ำกว่านั้นคือ ความถี่ในช่วง 1- 20 Hz เช่น ความถี่ที่ใช้ในการเตือนภัยของทุ่นสึนามิหรือความถี่จากน้ำหนักของรถบรรทุกที่เวลาวิ่งบนถนนเรารู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ตุ๊บๆๆ แต่อันนั้นคือเราไม่ได้ยินเหมือนกัน แต่เสียงที่ไม่ได้ยินของกังหันลมมันสามารถส่งผลทำให้เราอึดอัด ส่งผลต่อการสั่นสะเทือนของระบบย่อยอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจหรือดวงตา โดยที่คนทั่วๆ ไปก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รู้เรื่องนี้นะแต่เขาไม่บอก เพราะอาจจะมีการฟ้องร้องและทำให้เขาต้องจ่ายค่าเสียหาย และก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ในบ้านเราด้วย
โปรเจกต์ของนักศึกษาเกี่ยวกับเสียงแจ้งเตือนบนรถไฟฟ้า ได้ผลการศึกษาอย่างไรบ้าง
มีอยู่สองโปรเจกต์ที่นักศึกษาของเราทำเกี่ยวกับรถไฟฟ้า ผู้ให้บริการแรกได้ขอให้นักศึกษาของเราไปเช็คความดังของเสียงโฆษณาเพราะมีอยู่สองเสียงบ่น เสียงบ่นแรกก็คือผู้โดยสารรู้สึกว่ามันดังไป กับเสียงบ่นที่สองคือเจ้าของโฆษณารู้สึกว่าทำไมเบาจัง ได้ยินไม่ชัดเลย นักศึกษาจึงไปวัดทุกช่วงของวัน ก็สามารถรายงานได้ว่าความดังเท่าไรต่อคนจำนวนคนกี่คน เพราะเมื่อมีคนเยอะก็ย่อมมีเสียงรบกวนจากคนด้วย ซึ่งก็ต้องเพิ่มความดังขึ้นไปอีก ทำให้เวลาแต่ละช่วงความดังไม่เท่ากัน อย่างช่วงที่มีเสียงรบกวนมากๆ คือช่วง Rush hour ก็จะดังกว่าปกติ ขณะเดินทางมาผมก็ลองวัดบนเสียงรถไฟฟ้าได้ Background noise ดังเฉลี่ยอยู่ที่ 67 เดซิเบล และเมื่อมีเสียงประกาศก็ขึ้นไป 70 เดซิเบล แต่ขบวนที่ผมนั่งไม่มีโฆษณา ซึ่งแปลกมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นขบวนใหม่หรือเปล่า แต่สถานีที่ผมลงนั้นโฆษณาจากอีกชานชาลาหนึ่งดังข้ามมาตีกันเลย แต่ที่น่าตกใจคือผมเคยวัดระดับเสียงของขบวนรถขณะกำลังเลี้ยวจากสถานีสนามไชยไปสถานีสามยอดพบว่ามีความดังเฉลี่ยถึง 95 เดซิเบล และดังต่อเนื่องนานไม่ต่ำกว่า 5 วินาที
อีกโปรเจกต์หนึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าอีกเจ้า เจ้านี้ทางบริษัทไม่ได้ร้องขอ แต่เราขอเข้าไปศึกษาความดังของเสียงเตือนเวลาปิดประตู ตอนที่เราไปวัดนั้นมี 6 ประตูต่อหนึ่งขบวน แต่ละประตูก็มีดังไม่เท่ากัน และมีบางประตูที่ดังเกิน 85 เดซิเบล คือ มีค่าสูงตั้งแต่ 67.4 เดซิเบล ถึง 97.2 เดซิเบล ณ ตอนนั้นที่ศึกษารถไฟฟ้ามีอยู่ 2 ยี่ห้อ แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ามีกี่ยี่ห้อแล้ว โดย 2 ยี่ห้อนั้นก็ดังไม่เท่ากัน
เราก็มาคำนวนว่าแต่ละสถานีดัง ตี้ดๆๆ กี่ครั้ง และหากขึ้น 10 สถานีต้องฟังกี่ครั้ง ทุกกี่นาที แล้วกี่นาทีนั้นมันสร้างความรบกวนอย่างไรบ้าง
ผมว่ามันสร้างความรบกวนอยู่เหมือนกันในการดึงสมาธิเราไปเวลากำลังคิดอะไรอยู่ แต่ถ้าเป็นในญี่ปุ่นเขาก็จะมีการใช้เสียงเตือนที่เป็นเสียงนก หรือเสียงที่ไม่สร้างความน่ารำคาญให้แก่คนทั่วไปด้วยการใช้โทนเสียงที่เป็นมิตรเช่น เสียงดนตรี
หรือแม้กระทั่งในเวียนนาก็มีการออกแบบสัญญาณข้ามทางม้าลายที่สื่อสารด้วยการที่ทำให้จอบอกสัญญาณไฟ 10 วิแรกจะเป็นภาพคนเดินจูงมือกันมีรูปหัวใจขึ้น 10 วิต่อมาเป็นคนเดินธรรมดา และ 10 วิสุดท้ายเป็นภาพคนรีบวิ่ง
คือเขามีการออกแบบเมืองให้มันเป็นมิตรต่อผู้ใช้ หรือที่ฝรั่งเศสก็มีงานวิจัยเล็กๆ แต่สนุก เป็นการทำเรื่องเกี่ยวกับคนข้ามทางม้าลายที่ชอบฝ่าฝืนสัญญาณไฟ แต่ไม่ได้ฝ่าฝืนแบบรถเยอะๆ แล้วลงไปเดินเลยนะ ก็คือพอเป็นสีแดงมองว่าไม่มีรถหนิคนก็ข้ามไป สิ่งที่เขาทำก็คือ แนวคิดว่าคุณไม่มีทางรู้หรอกว่ารถจะมาตอนไหน ก็เลยสร้างเสียงรถเบรกดังเอี๊ยดขึ้นมา แล้วจังหวะที่เราหันไปมองตามที่มาของเสียงรถเบรค ภาพหน้าตาตอนนั้นของเราจะไปโชว์ที่จอฝั่งตรงข้ามโดยมีข้อความเขียนไว้ว่า “นี่คือสีหน้าคุณก่อนตาย”
คือเขามีการออกแบบเมืองให้มันเป็นมิตรต่อผู้ใช้ หรือที่ฝรั่งเศสก็มีงานวิจัยเล็กๆ แต่สนุก เป็นการทำเรื่องเกี่ยวกับคนข้ามทางม้าลายที่ชอบฝ่าฝืนสัญญาณไฟ แต่ไม่ได้ฝ่าฝืนแบบรถเยอะๆ แล้วลงไปเดินเลยนะ ก็คือพอเป็นสีแดงมองว่าไม่มีรถหนิคนก็ข้ามไป สิ่งที่เขาทำก็คือ แนวคิดว่าคุณไม่มีทางรู้หรอกว่ารถจะมาตอนไหน ก็เลยสร้างเสียงรถเบรกดังเอี๊ยดขึ้นมา แล้วจังหวะที่เราหันไปมองตามที่มาของเสียงรถเบรค ภาพหน้าตาตอนนั้นของเราจะไปโชว์ที่จอฝั่งตรงข้ามโดยมีข้อความเขียนไว้ว่า “นี่คือสีหน้าคุณก่อนตาย”
ทราบไหมว่าหลังจากนักศึกษาเข้าไปเก็บข้อมูลแล้ว ทางผู้ให้บริการรถไฟฟ้าดำเนินการต่ออย่างไร
การศึกษาครั้งนั้นเรามีหน้าที่แค่ศึกษาให้เขา เราจึงไม่รู้ว่าเขาดำเนินการส่วนนั้นต่ออย่างไร เพราะโจทย์ของเขาต้องการรู้ว่าตอนนี้มันเป็นยังไง แต่มันจะมีเคสที่ใกล้เคียงกัน คือห้าง Big C ที่นักศึกษาเราเข้าไปศึกษาให้ภายใต้โครงการสหกิจศึกษาที่สถาบันทำร่วมกับบริษัทหนึ่งที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ ซึ่งเขามีปัญหาว่าตรงลำโพงหน้าช่องจ่ายเงินมันเบาไป เพราะเมื่อบอกว่าเคาท์เตอร์ 3 ว่าง ลูกค้าก็ยังอยู่เคาท์เตอร์เดิม เขาจึงต้องเพิ่มเสียงให้ดังขึ้น แต่พอเพิ่มเสียงให้ดังขึ้นลูกค้าก็คอมเม้นต์ว่าดังไป หูจะแตกแล้ว (หัวเราะ) ทางนักศึกษาเราก็เลยร่วมกับทีมวิจัยของบริษัทเสนอไปว่าทำลำโพงให้มันฉลาดขึ้นไหม ด้วยการใช้ Adaptive Speaker ให้ลำโพงปรับตัวเองได้ โดยจะมีเซ็นเซอร์ไปติดอยู่ฝั่งลูกค้า หากเรากำหนดว่าให้อยู่ที่ 85 เดซิเบล ถ้าเสียงดังเกินเมื่อไหร่มันจะค่อยๆ ลดลง หรือถ้ามันต่ำกว่าก็จะค่อยๆ เพิ่มความดังขึ้นเช่นกัน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่นะครับ คือมีมานานแล้ว แต่ว่ามันไม่ได้ถูกนำมาใช้ และเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้บนรถไฟฟ้าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้มันมีหลายส่วน อย่างน้อยๆ ก็ 3 กลุ่มแล้ว คือ ผู้โดยสาร คนซื้อโฆษณา และบริษัทรถไฟฟ้าเอง การจะดำเนินการอะไรสักอย่าง เราก็เข้าใจเขาว่ามันมีเงื่อนไขอยู่
เสียงรบกวนบนรถไฟฟ้ากับเสียงจากหูฟังของเราอันไหนน่ากลัวกว่ากัน เพราะหลายคนมีพฤติกรรมใส่หูฟังบนรถไฟฟ้า
ผมสังเกตว่าเวลาขึ้นรถไฟฟ้าในหนึ่งขบวนรถจะพบคนที่ใส่หูฟังอย่างน้อย 5 คน หรืออาจจะมากกว่านี้ หนึ่ง-คนใส่หูฟังต้องการดนตรีที่ครบ สอง-คือเขาอาจจะเบื่อกับเสียงรอบข้างก็ได้ หรือเขาชอบฟังเพลงจริงๆ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ใส่หูฟัง ซึ่งมันก็ดีที่ได้ยินเพลงที่เราชอบตลอดเวลา ทุกอริยาบทในชีวิตเรา แต่ Background Noise เป็นตัวแปรสำคัญ คือหูฟังที่ผู้คนนิยมมีอยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ Over-ear (ครอบทั้งใบหู) On-ear (แนบหู) In-ear (เสียบหู) และแบบ Earbuds ซึ่ง 3 แบบนี้ต่างกันตรงการตัดเสียง Background Noise แบบครอบเนี่ยแม้จะตัดเสียงภายนอกไปได้เยอะ แต่ก็ยังมีเสียงรบกวนแทรกเข้ามาอยู่ดี มันก็เลยมีประเภทแบบ Noise cancellation ด้วยการส่งคลื่นเสียงอีกอันหนึ่งมาตัดเสียงข้างนอก แล้วได้ยินแต่เสียงดนตรีเลย ซึ่งการทำงานของมันนั้นเป็นการวัดว่า Background Noise ณ ตอนนี้มีความถี่เท่าไร่ แล้วส่งสัญญาณความถี่มา Cancel กัน แต่เขาไม่แนะนำให้ใส่เดินเพราะอาจโดนรถชนได้
ส่วน On ear เพื่อนพูดอยู่ข้างๆ ก็ยังได้ยิน อยากได้ยินเสียงดนตรีชัดๆ ก็ต้องเร่งขึ้นจนบ้างครั้งก็ไม่ได้เสียงเพื่อนพูดขึ้นมา สมมุติว่ามี 10 ระดับ เราเร่งไปจนถึง 8 กว่าจะรู้ตัวว่าดังมากก็ตอนที่เราอยู่ในพื้นที่ที่เงียบกว่าเดิม แต่หูเราไม่ได้เลือกนับว่ามันดังเกินไปนะ รับแค่นี้พอ ไม่ใช่ เพราะหูเรามันเป็นอวัยวะที่รับการสั่นสะเทือน ประสาทหูจะเปลี่ยนการสั่นสะเทือนเป็นกระแสประสาท และนำกระแสไปยังสมองจึงเกิดการได้ยิน บางครั้งเสียงเราปรับเสียงหูฟังดังเกินไปโดยไม่รู้ตัว
คำว่าดังเกินไปคือ ดังเกินที่หูควรจะรับได้ แม้จริงๆ แล้วหูจะรับได้หมด แต่หากไปทดสอบการได้ยินที่เขาเรียกว่า Audiogram ในโรงพยาบาล เราอาจจะพบว่าช่วงความถี่นั้นจะหายไปหรือไม่ได้ยิน เพราะเกิดจากการเสียหายของเซลล์ประสาทรับเสียงในหูที่รับความถี่ช่วงนั้นมันล้าจนเสียหายไปแล้ว ซึ่งเป็นการเสียหายถาวรเลย ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ถ้าช่วงแรกๆ สามารถพักแล้วกลับมาดีขึ้นได้ หรือแพทย์อาจให้สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการบวมและอักเสบของหูชั้นในจากการได้รับเสียงที่ดังเกินไป แต่ถ้านานเกินหลักหลายเดือนไปแล้วก็จบ โดยที่เราไม่รู้ตัวจนกว่าจะไปทดสอบ เพราะไม่สามารถเห็นอาการได้ หูไม่ได้ยินมันไม่ปวด มันแค่รู้สึกได้ยินไม่ค่อยชัด
ซึ่งผมเคยไปเทส และก็ขอดูผลการทดสอบของท่านอื่น เขาก็ให้ดูของเด็กที่ใส่หูฟังบ่อย ผลคือช่วงความถี่นั้น โอ้โห ดร็อปหายไปเยอะมาก ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเกิดกับวัยทำงานลงไป แล้วเขายังไม่ตระหนักว่ามันเป็นปัญหา แต่ขยับมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้หูฟังเริ่มเปลี่ยนเป็นแบบบลูทูธและเป็นแบบ In-ear ด้วย Airpod ของ iphone เองก็เปลี่ยนเป็นแบบ In-ear แล้ว ซึ่งผมมองว่ามันเป็นข้อดีตรงที่เราไม่ต้องไปเร่งมัน พอยัดปุ๊บก็ตัดเสียงรบกวนไปได้เยอะ และก็มี In ear อีกแบบที่เป็น cancellation ด้วย ก็ยิ่งดังไปด้วย
มลภาวะทางเสียงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร
ถ้าเราเสิร์ชว่ามลภาวะทางเสียงในเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษจะบอกเราว่ามีผลต่อจิตใจและอวัยวะภายในร่างกาย ในเรื่องของการรับรู้ของการได้ยิน ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าความถี่หรือความนานของการได้ยินเสียงเกิน 85 เดซิเบล นานขนาดไหน ซึ่งมันจะส่งผลให้สูญเสียการได้ยิน 2 แบบ คือ แบบชั่วคราวก็จะวิ้งๆ เหมือนเข้าผับแล้วออกมา และแบบถาวรเช่นคนที่ฟังเพลงจากหูฟังเป็นเดือนแล้วพอไปเทสตรวจจะพบว่าความถี่นั้นมัน lose ไปเลย เหมือนการคุยกับผู้สูงอายุที่มีอาการบกพร่องทางการได้ยินซึ่งเราพูดปกติแล้วเขาไม่ได้ยินที่ความถี่นั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้คือผลกระทบต่อเรา แต่เสียงจากรถไฟฟ้าก็คงไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นสูญเสียการได้ยินไปเลย แต่กรมควบคุมมลพิษให้ความรู้ว่าถ้าบางทีเราได้ยินเสียงนานเกินไปมันไปส่งผลให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสเต็ปที่รุนแรงขึ้นมาล่ะ เพราะพอความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงก็ส่งผลกระทบต่อหัวใจอีก
และก็มีนักเรียนผมคนหนึ่งเขาบอกว่าหูข้างหนึ่งของเขาที่ความถี่ช่วงหนึ่งสูญเสียการได้ยิน เพราะเกิดจากตอนเด็กๆ เขานอนอยู่ที่บ้านบนไม้กระดาน แล้วหน้าบ้านมีซ่อมแซมถนนเป็นเวลานาน เสียงการขุดเจาะถนนทำให้เขาสูญเสียการได้ยินในความถี่ช่วงหนึ่ง เขาก็เลยเป็นมาตั้งแต่เด็กเลย และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แบบเราไม่เคยรู้เลยว่ามันหายไปแล้วตอนไหน จนกว่าจะไปเช็ค เพราะไปเช็คสิ่งที่เขาบอกเลยคือมันไม่มียากิน มีก็แต่พักหู พักหูก็คือหยุดฟังเสียงที่ดังเกินไป เช่น หยุดใช้หูฟัง
เมื่อเสียงรบกวนต่างๆ เราไม่สามารถพึ่งทางรัฐเข้าไปควบคุมได้ อย่างนี้เรามีวิธีป้องกันหรือลดมลภาวะทางเสียงด้วยตัวเองได้หรือเปล่า
คือ การจัดการเสียงมีอยู่หลายแบบ อย่างเช่น ไปจัดการที่ต้นกำเนิดเสียงเลย คือไปลดเสียงลง แต่เราลดเสียงรถไฟฟ้าไม่ได้ อันที่สองซับเสียงไม่ให้มาถึงเรา กับอันที่สามเราต้องออกจากตรงนั้นเลย (หัวเราะ)
ในเรื่องจัดการดูดซับเสียง ผมเคยแนะนำเด็กนักเรียนไปว่าทำไมไม่ดีไซน์อะคูสติกส์เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นการดูดซับเสียงจากภายในห้องของเราไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก เช่น การใช้ตู้เสื้อผ้าให้เป็นเสมือนวัสดุซับเสียง โดยเปิดตู้ที่มีเสื้อผ้าเต็มตู้เลย เสื้อผ้าเหล่านั้นก็จะซับเสียงโดยปริยาย หรือแม้การจัดวางตำแหน่งของทีวีกับโซฟา ถ้าเสียงจากทีวีปล่อยออกมาชนกับโซฟาพอดี ก็จะซับเสียงได้อีกทีหนึ่ง แต่ถ้าทีวีตั้งสูงแล้วเสียงออกมามันก็จะไปโดนผนัง ทำให้เกิดการสะท้อนไปมาอยู่ดี
แต่การป้องกันที่ตัวเราเองถือเป็นวิธีที่ง่ายและทำได้ทันที อย่างผมเวลาออกไปข้างนอกจะใส่ Earplugs ตลอดเลย โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถสาธารณะหรือในพื้นที่ที่มีคนอยู่มาก
หากเราไม่มั่นใจว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้นเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินหรือไม่ หรือเรามีอาการสูญเสียการได้ยินไปมากน้อยเพียงไร มีแอปพลิเคชั่นหนึ่งชื่อ ‘Hearing Test’ สำหรับเอาไว้วัดการได้ยินของตัวเอง เหมือนเราไปทดสอบการฟังที่โรงพยาบาลเลย แอปพลิเคชั่นนี้จะให้เราใช้หูฟังในการทดสอบก่อนว่าเราอยู่ในสถานที่ที่เงียบพอไหม และเมื่อทดสอบก็จะได้กราฟ Audiogram บอกว่าแต่ละช่วงความถี่นั้นการได้ยินของเราดรอปลงไปที่ช่วงไหน แต่แปลกมากตรงที่ผมลองทดสอบแต่ละวันผลมันไม่เท่ากัน อาจจะขึ้นอยู่ที่ความเงียบด้วย แต่การทดสอบที่ดีที่สุดต้องไปทดสอบในโรงพยาบาล ในห้องไร้เสียงสะท้อน (anechoic chamber) เลยจะดีกว่า