26/06/2023
Mobility
จริงหรือ? ถ้าเมืองมีทางเท้าที่ดี เราจะมีเงินเก็บ
มัชฌิมา ไทยการุณวงศ์
กรุงเทพดุจเทพสร้างของเราในปัจจุบันกินเวลาและเงินเราไปเยอะขนาดไหน?
หลายคนในกรุงเทพอาศัยอยู่ในย่านใจกลางเมืองที่ถึงแม้จะมีระบบขนส่งสาธารณะอย่าง BTS, MRT, รถเมล์ และอื่นๆอีกมากมาย แต่ยังคงเลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว และเสียเวลาเดินทางเฉลี่ยถึงวันละ 2 ชั่วโมง พร้อมกับจ่ายค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน แล้วอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกที่จะไม่ใช้การเดินหรือระบบขนส่งสาธารณะ?
ที่มาภาพ: TomTom — Mapping and Location Technologytomtom.comhttps://www.tomtom.com
เคยคิดเล่นๆไหม ว่าวันนึงเราเสีย “เงินและเวลา” ไปกับการเดินทางเท่าไหร่?
นางสาวบีเป็นพนักงานออฟฟิศที่กำลังตัดสินในซื้อรถเป็นของตัวเอง บ้านบีห่างจากที่ทำงาน 5 กิโลเมตร บ้านบีอยู่ฝั่งธน ส่วนที่ทำงานบีอยู่ที่สามย่าน ทุกวันในการเดินทางบีที่อยู่ในซอยลึกจะต้องเรียกวินมอเตอไซค์เพื่อไปหน้าปากซอยเพื่อไปลงที่ BTS ที่มีฝูงชนมหาศาล ซึ่งบีก็ต้องรออีก 10 นาที ถึงจะได้ขึ้นขบวนเพื่อไปลงศาลาแดงแต่ที่ทำงานของบีอยู่ห่างออกไปไกลจากสถานี บีจึงต้องลงมาต่อวินอีกครั้งกว่าจะถึงที่ทำงาน
บีที่ตัดสินใจจะซื้อรถจึงได้ทำบัญชีรายจ่ายในการเดินทางต่อเดินเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเริ่มจากการใช้ขนส่งสาธารณะ
ผลลัพธ์ที่น่าตกใจคือเมื่อรวมการเดินทางทั้งหมดในระยะเวลา 1 เดือน บีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแค่กับการเดินทางถึงเดือนละ 3,960 บาท ซึ่งถ้าบีเป็นพนักงานเงินเดือนธรรมดาที่มีเงินเดือน 17,000 บาทต่อเดือน แค่ค่าเดินทางนี้จะทำให้เงินเดือนบีหายไปถึง 23%
แล้วถ้าบี ตัดสินใจซื้อรถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 420,000 บาท มีจะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ดังนี้
อ้างอิง: https://www.pttor.com/th/oil_price
อ้างอิง: คํานวณค่าน้ํามัน วางแผนค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง
อ้างอิง: 7 ค่าใช้จ่ายประจำที่คนใช้รถต้องเสียทุกปี
คำนวณค่าใช้จ่ายในระยะเวลา 10 ปี
ซึ่งเมื่อเทียบกับการซื้อรถยนต์ เมื่อนำมาเปลี่ยบเทียบค่าใช้จ่ายดูในระยะ 10 ปี แม้การใช้รถยนต์ก็จะต้องจ่ายมากกว่าถึง 164,580 บาท แต่เมื่อเทียบเป็นรายวันแล้ว บีจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นวันละ 48 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความสะดวกสบาย และสามารถซื้อเวลาจากการเดินทางในแต่ละวันได้ รวมถึงหลังจากผ่านไป 5 ปี บีจะหมดภาระเรื่องค่างวดผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางจะลดลงจากเดิม ขณะที่ การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะจะยังคงราคาเท่าเดิมต่อไป ผลลัพธ์นี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหลายๆคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับบีจึงตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่แม้น้ำมันจะแพงขึ้นทุกวันและต้องจ่ายค่าผ่อนไปอีกหลายปี แต่ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตาม บีก็ยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่อาจจะเกินตัวอยู่ดี
คนกรุงเทพที่ไม่มีเงินเก็บ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการ “ไม่มีทางเลือกในการเดินทาง”
ผังเมืองสู่การเดิน
การเดินเป็นวิธีการเดินทางที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายแถมยังช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับมนุษย์ แต่หากจะสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ สิ่งที่ต้องมีรองรับคือระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและราคาถูกเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งกรุงเทพในปัจจุบันยังไม่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้
ทางเดินไม่น่าเดิน
City for People เมืองที่ดีจะต้องเป็นเมืองที่ออกแบบเพื่อผู้คน ทางเท้าที่ดี ก็ควรเป็นทางเท้าที่ออกแบบเพื่อผู้คนเช่นกัน จากที่เห็นปัญหาทางเท้าในกรุงเทพที่เห็นกันมาอย่างนับไม่ถ้วน ต้นตอปัญหาหลักทั้งหมดจริงๆก็มาจากการออกแบบทางเท้าที่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของผู้คน ทั้งคุณภาพของตัวทางเท้า เช่นการอัดทรายที่ไม่แน่นพอในพื้นที่ชื้นอย่างกรุงเทพ ทำให้ทุกครั้งเมื่อฝนตกก็จะเกิดภาพการที่ต้องลุ้นว่าเหยียบแผ่นไหนไปแล้วน้ำจะกระเฉาะ รวมทั้งการวางเส้นทางเท้าที่ไม่มีความต่อเนื่องกันและใช้งานไม่ได้จริงเกิดความไม่สะดวกสบายและความอันตรายในการใช้งาน
ถนนไม่เพียงพอและซอยตันจำนวนมาก
ในกรุงเทพที่มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร แต่กลับมีพื้นที่ถนน 133 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 7.2% ของพื้นที่กรุงเทพ ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 3 เท่า ทำให้ในพื้นที่เกิดปรากฏการณ์ของ Super Block รวมถึงซอยตันจำนวนมากส่งผลให้ระบบถนนไม่มีความเชื่อมต่อกัน ที่กระทบไปถึงการเข้าใช้บริการของทั้งระบบขนส่งสาธารณะรองหรือระบบ Feeder ต่างๆ และ ระบบขนส่งสาธารณะหลักอย่าง BTS และ MRT ก็เป็นเรื่องยากลำบากในเดินเพื่อเข้าถึง เนื่องจากมีระยะทางที่ไกลและอ้อม
ที่มาภาพ: สัดส่วนพื้นที่ถนน – GoodwalkThailand
การเดินเกี่ยวอะไรกับเงินเก็บ?
การเดินช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง
อย่างที่เห็นได้ชัดว่า หากกรุงเทพเป็นพื้นที่ที่สามารถเดินได้ นางสาวบีในตัวอย่างข้างต้นจะสามารถลดรูปแบบการสัญจรไปได้หลายต่อที่ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไปจนถึงอาจสามารถไปทำงานและกลับบ้านได้ด้วยการสัญจรต่อเดียวที่ทั้งถูก รวดเร็ว และสะดวกสบาย
การเดินช่วยกระจายเศรษฐกิจ
ยิ่งคนเคลื่อนที่ช้าลง โอกาสที่จะเกิดการแวะหรือจับจ่ายจะมีเพิ่มขึ้น ช่วยกระจายรายได้ให้กับให้ร้านค้าปลีกที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า และตัวผู้บริโภคเอง ก็มีโอกาสในการเลือกซื้อของที่มากขึ้น ไม่เหมือนกับเวลาใช้รถยนต์ส่วนตัวที่มักจะมีจุดแวะเพียงแค่ตรงจุดเริ่มต้นและปลายทาง
การเดินช่วยลดค่ารักษาพยาบาล
“มนุษย์ถูกออกแบบมาให้เดินและวิ่ง ไม่ใช่นั่ง” การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและง่ายที่สุด โดยมีงานศึกษาเกี่ยวกับการเดินเพื่อออกกำลังที่โด่งดังมากในปี 2004 กล่าวว่าจำนวนการเดินขั้นต่ำที่ควรจะเป็น ไม่ใช่การเดิน 10,000 ก้าวต่อวันอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นการเดินเพียงแค่ 7,500 ก้าว หรือประมาณ 5.6 กิโลเมตร ต่อวันเท่านั้น การเดินทุกวันในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆไปโดยปริยาย
เรียนรู้จากญี่ปุ่น “ชาติแห่งการเดินและจักรยาน”
ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะ ครอบคลุมหลายพื้นที่ และมีราคาค่าโดยสารเมื่อเทียบกับอัตรารายได้แล้วค่อนข้างถูก ดังนั้น ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและถูกนี้ จึงเป็นตัวเลือกหลักของคนในการสัญจร มากกว่ารถยนต์ส่วนตัวที่ราคาที่จอดแพง และอาจต้องเสียเวลารอรถติด ส่งผลให้การปั่นจักรยานและการเดิน เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า
โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ
เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อคนเดินเท้า และใช้จักรยาน ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจึงออกแบบมาเพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านั้น โดยจะสามารถพบเห็น Bike Lane ในประเทศญี่ปุ่นในถนนหลายแห่ง รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบ Universal Design และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สำหรับคนเดินเท้าและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
ลำดับความสำคัญ
การออกแบบทางข้ามและกฎหมายต่างๆในญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้า และผู้ที่ปั่นจักรยานมากกว่ารถยนต์ เพราะถือว่าบุคคล 2 กลุ่มนี้เป็นผู้เปราะบาง และมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวในญี่ปุ่นที่มีการใช้กฎหมายที่เข้มงวด ทั้งในเรื่องของการจำกัดความเร็วในการขับขี่ การซื้อประกันรถยนต์ และ การบำรุงรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมเลือกใช้จักรยานและการเดินมากกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว
ที่มาภาพ Cycling Rules in Japan – Transport – Japan Travel
กลับมาที่นางสาวบี หากเมืองกรุงเทพที่บีอยู่ เป็นเมืองที่สามารถไปทำงานได้ด้วยการเดินและระบบขนส่งสาธารณะ
ค่าเดินทางที่บีจะต้องเสียไปในแต่ละเดือนจาก 3,960 บาท อาจจะลดลงเหลือเดือนละ 1,892 บาท ซึ่งลดลงไปถึง 52% และจะมีเงินเหลือเอาไปทำอย่างอื่นได้เพิ่ม 2,068 บาท ซึ่งคิดเป็น 12% ของเงินเดือน บีจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายอย่างอื่น เป็นเงินเก็บ หรือลงทุนสำหรับอนาคตได้อีกไม่น้อย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
ราคาขายปลีก กทม. และปริมณฑล ประจำปี พ.ศ. 2566
How many steps/day are enough? Preliminary pedometer indices for public health
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ญี่ปุ่น กลายเป็น “ชาติแห่งการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน”