10/06/2023
Public Realm
PLACE DE LA BASTILLE พื้นที่สาธารณะใหม่ ที่ผู้พิการทางสายตาร่วมออกแบบ
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
ลานบาสตีย์ (Place de la Bastille) ที่มีอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำของการปฏิวัติฝรั่งเศส อดีตเคยเป็นที่ตั้งของคุกบาสตีย์อันเป็นสัญลักษณ์ของระบบการเมืองและสังคมของฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ (Ancien Régime) มาก่อน แต่มันได้ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 1789 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันชาติฝรั่งเศส ทำให้ลานนี้คือหนึ่งในลานยอดนิยมในปราศัยและการเรียกร้องทางการเมือง
อนุสาวรีย์นี้ออกแบบมาหลายเวอร์ชัน เช่น รูปช้างในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) ที่ปรากฏในวรรณกรรม เล มิเซราบล์ (Les Misérables) โดยวิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) แต่ที่สร้างจริงที่เราเห็นทุกวันนี้คือออกแบบในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) เป็นเสาบรอนซ์สีเขียวขนาดใหญ่ บนยอดประดับด้วยรูปปั้น “จิตวิญญาณอิสระ” (Le Génie de la Liberté)
ที่มาภาพ APUR
อนุสาวรีย์นี้เดิมเป็นวงเวียนรถยนต์ธรรมดา หากเราอยากศึกษาอนุสารีย์ประวัติศาสตร์ แต่ก่อนต้องเดินข้ามถนนไป ซึ่งข้ามยากเพราะถนนมีขนาดใหญ่ อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ปลายถนน Rivoli (เส้นตะวันออก-ตก) ที่วิ่งมาเชื่อมกับย่านบาสตีย์ ย่านกินดื่มและย่านวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของ Opéra Bastille หนึ่งใน “Grands Projets” ของประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง (François Mitterrand) รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของ Le Viaduc des Arts ที่มีการนำรางรถไฟไม่ใช้แล้วมาทำเป็นสวนสาธารณะเชื่อมไปยังป่าตะวันตก Bois de Vincennes อันเป็นแนวคิดที่มาก่อนกาลตั้งแต่ยุค 80s ก่อนมี High Line
ด้วยนโยบาย “เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน และส่งเสริมการเดิน” ของแอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีกรุงปารีส จึงนำมาสู่การปรับปรุง “ลานสาธารณะหลัก 7 แห่ง” ของเมือง ให้บูรณาการเข้ากับระบบทางเท้าและจักรยาน (ดังแผนที่)
ที่มาภาพ APUR
ลานบาสตีย์คือหนึ่งในนั้น เริ่มจากการทำให้วงเวียนรถยนต์ไม่เป็นวงเวียน โดยการออกแบบพื้นที่ทางเท้ารอบอนุสาวรีย์ขยายเป็นลานพลาซ่า โดยขยายลานไปจรดพื้นที่ริมคลองแซงต์มาร์แตง (Canal Saint-Martin) เพื่อปิดถนนลงด้านหนึ่ง ทำลายความเป็นวงเวียน แล้วถัก “โครงข่ายทางเท้าและทางจักรยาน” เข้ามาในการออกแบบ รวมทั้งออกแบบลานให้มีร่มเงาด้วยต้นไม้และเก้าอี้นั่ง นี่เป็นแนวคิดพื้นฐานของการออกแบบพื้นที่สาธารณะหลัก 7 แห่ง ซึ่งที่ลาน Place de la République ก็มีการจัดการจราจรใหม่แบบนี้เช่นเดียวกัน
ที่มาภาพ APUR
และที่น่าสนใจคือ ในกระบวนการออกแบบ มีกระบวนการให้ผู้พิการทางสายตาได้เข้าร่วมออกแบบด้วย (นอกเหนือจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่เป็นมาตรฐานปกติในการออกแบบอยู่แล้ว) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็น “พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน” สำหรับทุกคนจริงๆ ตอบอุดมการณ์รัฐ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ หลังจากที่ลานนี้ก่อสร้างเสร็จไม่นาน ลานนี้ก็ถูกใช้อย่างคึกคัก โดยเฉพาะเยาวชน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์