24/01/2020
Public Realm

แสงสว่าง ส่องวิถีชีวิตชุมชนคลองไผ่สิงโต และสะพานเขียว

บุษยา พุทธอินทร์
 


บุษยา พุทธอินทร์  

แสงไฟที่ส่องสว่างในซอยละแวกบ้านคุณ อาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยให้คุณรู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องเดินกลับบ้านในยามค่ำคืน

แสงไฟในเมืองและชุมชน

แสงไฟมีผลต่อ อารมณ์ ความรู้สึก ความกลัว และการรับรู้ของคน แต่น่าสนใจว่า เคยมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไฟถนนและการเกิดอาชญากรรมในลอนดอน ปี 2554 พบว่า อันที่จริงแล้วแสงไฟไม่ได้ลดอาชญากรรมโดยตรง 

แล้วเหตุใดเราถึงรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีแสงไฟสลัวๆ ในยามค่ำคืน

แม้ว่าแสงไฟบนทางเท้าจะไม่ใช่อุปกรณ์ที่สามารถลดอาชญากรรมได้โดยตรง แต่แสงไฟที่ส่องสว่างบนพื้นที่สาธารณะ ตามตรอก ซอย มีส่วนช่วยในการมองเห็น รับรู้เส้นทาง สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องดำเนินชีวิตประจำวันในช่วงเวลากลางคืน 

อีกทั้งยังนำมาซึ่งกิจกรรม ความหลากหลายของผู้คน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดี และเกิดพลวัตการใช้งานพื้นที่ที่ยาวนานมากขึ้น กล่าวคือ ผู้คนที่สัญจรเท้าผ่านไปผ่านมานั้นทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ระแวดระวังเป็นหูเป็นตาให้กัน หรือที่เรียกว่า “สายตาเฝ้าระวัง” (eyes on street) ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรม (Jacobs, 1961) สร้างกลไกความปลอดภัยให้แก่ชุมชน หรือพื้นที่

ส่องสว่าง สร้างชีวิตชีวาให้สะพานเขียวและชุมชนคลองไผ่สิงโต

แสงสว่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะละแวก ชุมชน พื้นที่เปลี่ยวบริเวณใต้สะพานที่มืด บนสะพานที่ไม่มีทางหนี และพื้นที่มุมอับลับตา มีลักษณะคล้ายคลึงพื้นที่อย่าง “ชุมชนคลองไผ่สิงโต และสะพานเขียว” พื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ระหว่างสองสวนที่มีความสำคัญในระดับเมือง คือ สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ อยู่ท่ามกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจอย่างย่านสีลม-สาทร ปทุมวัน และคลองเตย ถูกรายล้อมไปด้วยความพลุกพล่าน วุ่นวายของผู้คนในเมืองที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

การปราศจากซึ่งแสงสว่างที่เหมาะสม และกิจกรรมที่สอดคล้องแก่บริบท ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บนสะพานเขียว ใต้สะพาน และซอยทางเดินในชุมชนโดยรอบ อาจเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมสะเทือนขวัญ หรือแหล่งซุกซ่อนตัวของมิจฉาชีพให้สามารถดักทำร้าย ปล้นจี้ได้ง่าย หรือแม้กระทั่งกลายพันธุ์เป็นพื้นที่หลบนอนของคนไร้บ้าน 

ปัจจุบันมีการใช้งานนวัตกรรมไฟฟ้าแสงสว่างอัจฉริยะ (smart lighting) ที่สามารถควบคุมและปรับระดับความสว่างให้เหมาะสมกับบริบทชุมชนคลองไผ่สิงโตได้ หากติดตั้งบนพื้นที่สะพานเขียวไม่เพียงแต่ช่วยในด้านความปลอดภัย แต่ยังสร้างสรรค์ประสบการณ์ บรรยากาศที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน 

ทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางแสง (light pollution) ที่บริเวณชั้น 2 ของบ้านเรือนที่ติดกับสะพานเขียวอีกด้วย ป้องกันสภาวะที่ถูกรบกวนจากแสงสว่างที่มากเกินไป ไม่รุกล้ำไปในเคหสถาน (light trespass) และรบกวนความเป็นส่วนตัว ส่งเสริมความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน สร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่สะพานเขียว และชุมชนคลองไผ่สิงโตอีกด้วย 

แสงไฟอัจฉริยะ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมเมืองและชีวิต

จากการศึกษาเรื่องการลดอาชญากรรมด้วยการออกแบบสิ่งแวดล้อมในเมืองนิวยอร์กปี 2562 ซึ่งเป็นการทดลองติดตั้งไฟถนนชั่วคราว โดยสุ่มชุมชนตัวอย่างขึ้นมาพัฒนา พบว่า “ชุมชนที่ได้รับแสงสว่างมากขึ้น ประสบปัญหากับอาชญากรรมที่น้อยลง” 

สอดคล้องกับผลงานของ อิเล็กส์ทรา บอโดนาโร นักวิจัยและออกแบบแสงไฟเมือง ที่จัดทำผังและงานแสดงแสงไฟในพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ใต้สะพานทางหลวง และอุทยานโอลิมปิกราชินีเอลิซาเบธ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ด้วยอุปกรณ์แสงไฟอัจฉริยะ ที่นับว่าประสบความสำเร็จ นอกจากจะป้องกันอาชญากรรม ระดับแสงสว่าง สี และกิจกรรม ยังสร้างอารมณ์และบรรยากาศเชิญชวนให้ผู้คนหยุดมอง พักผ่อน ทำกิจกรรมเล่นกันสนุกสาน เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนให้เริ่มมีบทสนทนาอีกด้วย 

การจัดแสดงแสงไฟพื้นที่ใต้สะพานทางหลวง ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ

อาจกล่าวได้ว่า การออกแบบแสงไฟที่เหมาะสมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ป้องกันอาชญากรรม เกิดสุนทรียภาพในชุมชน สร้างประสบการณ์ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในชุมชนให้ช้าลงจากการเดินเท้า นั่งหยุดพัก เชิญชวนให้มอง และเกิดเรื่องราวระหว่างทาง 

แสงไฟ สุนทรียภาพ กิจกรรม วิถีชีวิตผู้คน และอัตลักษณ์ท้องถิ่น

การออกแบบแสงไฟอัจฉริยะและกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมชุมชน อาจเป็นทางออกหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์ในสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่องสว่าง เกิดกิจกรรมที่ยาวนานขึ้น ส่งเสริมวิถีชีวิตผู้คนและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างชีวิตชีวาให้แก่สะพานเขียว พื้นที่ใต้สะพาน และชุมชนคลองไผ่สิงโต ฟื้นคืนสู่พื้นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ในชุมชน เป็นทางกลับบ้านที่ปลอดภัย เป็นสวนวิ่งลอยฟ้าไร้อันตราย เป็นทางจักรยานที่สะดวก สร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ผู้คนและคู่รักที่ออกเดต ที่เที่ยวที่ถ่ายรูป และอาจเป็นชีวิตแห่งใหม่ใจกลางเมือง 

จึงกล่าวได้ว่า   “แสงสว่างที่สมดุลนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี”

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้เชิญนักออกแบบแสงไฟระดับโลก อิเล็กส์ทรา บอโดนาโร ผู้ได้รับรางวัลออกแบบแสงสว่างพื้นที่สาธารณะ ในปี 2562 มาร่วมออกแบบและจัดแสดงแสงไฟในงาน “เทศกาล แสง สี ศิลป์ เชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง” เพื่อเป็นต้นแบบแสงไฟส่องสว่างในย่านคลองไผ่สิงโต พลิกฟื้นสะพานเขียว เชื่อมวิถีชีวิตชุมชน

อ้างอิงข้อมูลจาก

C Aaron, H Benjamin, L Jason, P Lucie. (2019). Reducing Crime Through Environmental Design: Evidence from a Randomized Experiment of Street Lighting in New York City

Jacobs, J. (1961). The Death and Life of Great American Cities. England: Penguin Books.

S Atkins, S Husain, A Storey. (1991). The influence of street lighting on crime and fear of crime

https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=3383297

https://www.globeatnight.org/light-pollution.php

https://www.lighting.philips.co.th/home

ที่มาภาพ : https://lightfollowsbehaviour.com/


Contributor