10/06/2023
Environment
LUXURY FOR ALL เมืองเขียว: ความหรูหราสำหรับทุกคน
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
นอกเหนือจากความน่าทึ่งที่นายกเทศมนตรีกรุงปารีสเปลี่ยนพื้นที่เมืองส่วนใหญ่ของปารีสให้เป็นมิตรกับจักรยานภายใน 3 ปี การกลับมาปารีสแต่ละปีจะเห็นว่า “ปารีสเขียวขึ้น” เดินไปที่ไหนก็มีแต่สวนสาธารณะใหญ่ เล็ก ทางเท้าก็เขียวร่มรื่น เดินได้ทั้งเมือง แม้แต่ละเขตมีความเขียวและคุณภาพที่แตกต่างกันบ้าง แต่ต้องบอกว่า “เขียวทุกเขต” เรียกได้ว่าเดินหลบให้พ้นยากกว่าหาให้เจอ ยืนยันโดยชาวปารีส เขาบอกว่าตอนเขาเป็นนักศึกษา (ช่วง 70-80s) ปารีสไม่เขียวแบบนี้ สวนสาธารณะไม่เยอะมากมายเเบบนี้ และเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความสำเร็จของเมืองปารีส
สวนสาธารณะของปารีสเข้าถึงได้ทุกเขตในระยะเดิน มีหลากหลายทั้ง สวนโดยเทศบาล สวนโดยเอกชน สวนป่า สวนสุสาน สวนผัก สวนดาดฟ้า สร้างในหลากหลายยุคสมัย โดยทั่วไปมีมาตรฐานใกล้เคียงกันคือ ต้นไม้ใหญ่ ดูแลต้นไม้ดี ออกแบบดี มีพื้นที่รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งออกกำลัง ลานเปตอง สนามเด็กเล่น สนามหญ้าสำหรับปิคนิค นั่งอ่านหนังสือหรือทำงานเงียบๆ เรียกได้ว่า แม้อาศัยในอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ แต่ก็พอจะมีพื้นที่สาธารณะสวยๆ ให้ผ่อนคลายใกล้บ้าน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ผู้คนโหยหาสวนใกล้บ้านสำหรับผ่อนคลายจิตใจ
สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือสวนที่นี่ “เงียบ” ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ปารีสมีสวนจำนวนมาก คนมีทางเลือก สวนจึงไม่แออัด หรืออาจจะเพราะคนที่นี่ใช้เมืองและที่สาธารณะเป็น ค่อนข้างมีมารยาทในการใช้พื้นที่ส่วนรวม ไม่ส่งเสียงดังรบกวน
แต่กว่าที่ปารีสจะเขียวแบบนี้ได้ ไม่ใช่ความสำเร็จของนายกเทศมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่วางรากฐานมาตั้งแต่ปี 1867 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปารีสมีการ “ผ่าตัด” ครั้งใหญ่ โดยบารอน เออแฌน เอ็วสม็อง (Baron Eugene Haussmann) ตามคำบัญชาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) แห่งฝรั่งเศส ที่ทำการปรับปารีสให้ทันสมัยขึ้น
ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Georges-Eug%C3%A8ne_Haussmann
หนึ่งในวิสัยทัศน์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 คือการสร้างสวนสาธารณะให้ทั่วเมือง เพื่อรองรับชนชั้นกลางที่เป็นคนกลุ่มใหม่ที่หลั่งไหลมาอาศัยในเมือง ระบบสวนแบบใหม่ (Modern Park System) จึงได้วางรากฐานเป็นครั้งแรกในปารีส โดย Haussmann ได้มอบหมายให้ Adolphe Alphand วิศวกรคู่ใจมาออกแบบสวนสาธารณะหลักในปารีสตอนนั้น ตัวอย่างผลงานเช่น สวน Bois de Boulogne ที่ใช้แข่งขันเทนนิสเฟรนช์โอเพ่น (French Open) และสวน Butte Chaumont ฯลฯ หากลองดูเส้นสายและอุปกรณ์ถนนที่ออกแบบโดย Alphand จะพบว่ามันถูกวางไว้อย่างงดงามมาก ซึ่งที่ดินที่ใช้สร้างทำสวนแห่งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากที่ของกษัตริย์ ขุนนาง หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสที่กลายเป็นสมบัติของสาธารณชน
ที่มาภาพ Parc des Buttes-Chaumont (1864-1867)
มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้แนวคิดการสร้างเมืองให้เขียวมาจากลอนดอน ที่เขาอยู่อาศัยตอนเด็ก ลอนดอนตอนนั้นก็มีการปฏิวัติผังเมือง (Modern Urban Planning) จากการระบาดของอหิวาตกโรค (Cholera) ที่นำมาสู่การออกแบบมาตรฐานเมืองใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน เช่น การปรังปรุงอาคารและที่พักอาศัย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุน (Public Housing) ของชนชั้นแรงงาน ถนน พื้นที่สาธารณะ และแม่น้ำ หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ขึ้นสู่อำนาจ จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับปารีสด้วย
จากนั้นปารีสก็เดินหน้าพัฒนาสวนสาธารณะต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เห็นได้จากแผนที่งานศึกษาการวิวัฒนาการพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ปี 1730 – ปัจจุบัน
ที่มาภาพ apur
ปัจจุบัน 31% ของปารีสเป็นพื้นที่สีเขียว ประกอบด้วย:
- สวนสาธารณะและสวน 730 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5.2 ตารางกิโลเมตร
- สวนป่า 18.4 ตารางกิโลเมตร ขนาบเมืองทิศตะวันออก (ป่า Boulogne) และตะวันตก (ป่า Vincennes)
- สวนสุสาน 1.13 ตารางกิโลเมตร ของสุสานที่สวยงามร่มรื่น (เช่น Montparnasse ที่ฝัง Jean-Paul Sartre หรือ Père Lachaise ที่ฝัง ChopinFrédéric Chopin, Oscar Wilde, Édith Piaf หรือ Jim Morrison)
- สีเขียวตามถนนยาว 650 กิโลเมตร
- สีเขียวตามริมแม่น้ำแซน (Seine) 30 กิโลเมตร รวมจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 106,000 ต้น
นอกจากพื้นที่สวนสาธารณะแล้ว ยังมี:
- สวนเอกชนขนาด 6 ตารางกิโลเมตร
- สวนเกษตรกรรมในเมือง 0.31 ตารางกิโลเมตร
- สวนดาดฟ้า 0.5 ตารางกิโลเมตร และผนังสีเขียว (Green walls)
ที่มาจากการส่งเสริมข้อบัญญัติเมืองให้ “เอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง”
เมืองสีเขียวด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของ “พลเมือง”
ตั้งแต่ Anne Hidalgo เป็นนายกเทศมนตรีกรุงสมัยที่ 1 เธอได้ส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวผ่านนโยบายสนับสนุนหลายรูปแบบ แต่ที่อยากมาเล่าคือ “สวนผักคนเมือง”
แม้ว่าในเล่มนโยบายการฟื้นฟูเมืองปารีสจะเขียนว่าด้วยเหตุผล “ความมั่นคงของอาหารในเมือง” แต่แท้จริง ผลสัมฤทธิ์หลักคือ การสร้าง “ความเป็นชุมชน” หรือ Collectivity ให้เกิดขึ้นในระดับย่าน ตอนนี้ทุกเขตจะมีสมาคมระดับเขต (District Association) ที่แอคทีฟเรื่องการร่วมดูแลพื้นที่สีเขียว แต่สมาคมที่มาแรงคือ “สมาคมสวนผัก” อย่างเช่นในเขต 14 มีแปลงผักของชุมชน 40 กว่าแห่ง ที่อาสาสมัครของสมาคมช่วยกันดูแล
จากการเข้าไปพูดคุยกับอาสาสมัครคนหนึ่ง เธอเล่าว่าตอนนี้มีทุกเขต ในสมาคมฯ มีสมาชิกหลากหลายจากคนในเขต มีทั้ง Active Members และ Passive Members มีทั้งมีความรู้เรื่องเกษตรและไม่มี อย่างเธอคนนี้ เธอมีความชอบส่วนตัวเลยมาดูแลให้บ่อย ทั้งรดน้ำ กำจัดวัชพืช
ส่วนผลผลิตจากสวนผักก็มีบ้าง ใครจะทานก็ได้ แต่เป้าหมายจริงๆ คือ พื้นที่สีเขียวของชุมชน โดยชุมชน และเป็นพื้นที่กิจกรรมให้เด็กๆ และชุมชนได้มาทำร่วมกัน โดยมีเทศบาลเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่ขอไป และทรัพยากร เช่น เจ้าหน้าที่ในช่วงเริ่มต้น และคำแนะนำต่างๆ ส่วนที่ดิน เป็นของเอกชน ยินยอมให้ใช้ คิดว่านโยบายนี้ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะที่ดินปารีสแพงดังทองคำ แต่ก็มีเอกชนยินดีเข้าร่วมโปรแกรม
ทางด้านศาลาว่าการกรุงปารีส แม้ว่าปารีสจะเขียวแบบนี้ แต่ Anne Hidalgo ก็ยังไม่พอใจ ขอเขียวกว่านี้ ด้วยเหตุผลเรื่องโลกร้อน ปารีสตั้งเป้าหมายว่าในปี 2030 ต้องมีพื้นที่สีเขียว 50% ของ พื้นผิวเมือง จะปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 160,000 ต้น รวมทั้งจะปรับปรุง City Landmarks เป็นป่าในเมือง (urban forest) เช่น หน้าศาลาว่าการ Hôtel de Ville สถานี Gare de Lyon หน้าโรงโอเปร่า Garnier ริมแม่น้ำ Seine ฯลฯ
อ้างอิง: ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ ATELIER PARISIEN D’URBANISM และ parisecologie
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คนไทย 4.0 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)