เมืองลียง



20 ปีของการพัฒนาเมือง : บทเรียนที่แสนเจ็บปวด La Confluence และ มักกะสัน

01/09/2020

หลายคนคงคุ้นเคยกับพื้นที่ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อย่างพื้นที่สวนลุมพินีซึ่งมีขนาด 360 ไร่ หรือพื้นที่สนามหลวงใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ เเต่อาจจะมีไม่กี่คนที่รู้จักพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างพื้นที่มักกะสันที่มีขนาดใหญ่กว่า 700 ไร่ โดยมีขนาดเป็น 1.3 เท่าของพื้นที่สวนลุมพินี หรือเปรียบได้กับสนามหลวง 9 เเห่งด้วยกัน เเต่ปัจจุบันพื้นที่มักกะสันยังถูกปล่อยให้ร้างท่ามกลางการพัฒนาของพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ La Confluence ในประเทศที่พัฒนาเเล้วอย่างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าเเก่ใจกลางเมืองที่เคยถูกปล่อยให้ร้างเเละส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเชื่อมต่อกับเนื้อเมืองโดยรอบ โดยในบทความนี้จะอธิบายถึงขั้นตอนเเละเเนวคิดในการเเก้ไขปัญหาพื้นที่ลักษณะนี้ ผ่านกระบวนการวางผังเเละออกเเบบเมืองจนเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาเพียงเเค่ 20 ปี โครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เมืองลียงหรือ “La Confluence” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าเเก่ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1.5 ตร.กม. โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เริ่มมีการปิดกิจการเเละย้ายออกจากพื้นที่ จึงเป็นผลให้พื้นที่กลายเป็นพื้นที่รกร้าง เสื่อมโทรมเเละไม่น่าอยู่อาศัย ผู้คนต่างพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังพื้นที่บริเวณนี้ เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเเล้ว ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นเเรงงาน รวมถึงคุก St.Paul ทั้งๆ ที่บริเวณนี้นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟเก่าเเก่อย่างสถานี Perrache เเล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณเเหลมของเกาะใจกลางเมืองลียง ที่เป็นจุดตัดของเเม่น้ำสายสำคัญอย่างเเม่น้ำโซน (Saone) เเละแม่น้ำโรน (Rhone) ที่มีมุมมองของคุ้งน้ำที่สวยงามซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพมาก จากทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองทั้งฝั่งตะวันตกเเละฝั่งตะวันออกได้ จากการที่พื้นที่ที่มีศักยภาพระดับนี้ เเต่กลับถูกทิ้งร้างเเละเป็นที่หลีกเลี่ยงของผู้คนในเมือง ทางภาครัฐจึงได้มีการเสนอให้มีการบูรณะฟื้นฟูเมืองบริเวณนี้ โดยนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับศักยภาพที่มีอยู่เเล้ว ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อพื้นที่บริเวณนี้กับพื้นที่ด้านข้าง รวมถึงเป็นการขยายศูนย์กลางเมือง ไปทางใต้ของเกาะมากขึ้น ซึ่งจากเดิมการพัฒนาของเมืองลียงจะหยุดอยู่เเค่ที่สถานี Perrache ที่เปรียบเสมือนกำเเพงที่เเบ่งเกาะออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือส่วนเหนือเเละส่วนใต้ ซึ่งผลจากการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนี้ จะเป็นการเชื่อมเเกนเหนือ-ใต้ของเมือง โดยจุดประสงค์หลักคือ การเพิ่มความหนาเเน่นพร้อมกับการสร้างพื้นที่สาธารณะเเละพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยเเละทุกกลุ่มรายได้ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนของประชากรกับการใช้งานของพื้นที่โดยมีธีมหลักในการออกเเบบคือ เเม่น้ำสายสำคัญทั้ง 2 สายที่ขนาบข้างพื้นที่โครงการ โดยโครงการเเบ่งออกเป็น 2 ระยะ เเละมีระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 20 ปี ซึ่งในระยะเเรก จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตก หรือพื้นที่ที่อยู่ติดกับเเม่น้ำโซน (Saone) โดยมีเเนวคิดหลักคือ การพัฒนาให้กลายเป็นเมืองตัวอย่าง ผ่านการผสมผสานการใช้งานของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่อยู่อาศัยเเละสำนักงาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะ โดยลักษณะสัณฐานเดิมของพื้นที่บริเวณริมเเม่น้ำโซน (Saone) นั้น […]