10/03/2020
Environment

กรุงเทพฯ เขียวได้ แต่อยากเขียวแค่ไหน

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


ความเดิมตอนที่แล้ว เราพูดถึงวิกฤติฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ที่แก้ไขได้ผ่านการออกแบบเมืองให้เดินได้เดินดี มีระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถยนต์บนถนนให้น้อยลง แต่อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะเชื้อเชิญให้คนออกเดิน นั่นคือการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองให้ร่มรื่น

เมืองเขียวได้ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำ

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กำหนดขนาดพื้นที่สีเขียวในเมืองขั้นต่ำไว้ที่ 9 ตร.ม./คน นับรวมหมดไม่ว่าจะเป็นสวน เกาะกลางถนน ที่นา หรือไม้กระถางสักต้นที่ผลิตออกซิเจนได้ 

มาดูตัวอย่างคือปารีส เมืองที่มีตัวเลขพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 13.2 ตร.ม./คน เป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ด้วยการนำของ Georges-Eugène Haussmann นักผังเมืองผู้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ตัวชี้วัดหนึ่งคือทำยังไงให้คนเดินมาสวนสาธารณะได้ใน 10 นาที

ปารีสถูกพัฒนาให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก (Urban Facilities) ครบครันเพื่อดึงให้คนอยู่ในเมืองและออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างสนุกสนาน (Urban Lifestyle) ตั้งแต่แทรกต้นไม้และพื้นที่สีเขียวไปในทุกมุมเมือง ทวงคืนทางเท้าจากถนนและทางด่วน พัฒนาพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำแซนให้ทุกคนในครอบครัวออกมาใช้เวลาวันหยุดร่วมกันได้ (Holiday in the city) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะปารีสมีรูปแบบการบริหารเมืองที่กระจายอำนาจตัดสินใจและงบประมาณให้ผู้อำนวยการเขต (Mayor of District) เต็มรูปแบบ

สิงคโปร์เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตัวเลขพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยของสิงคโปร์คือ 56 ตร.ม./คน เพราะเขามีพื้นที่สีเขียวกว่า 10,000 ไร่ ต้นไม้ 1.4 ล้านต้น สวนสาธารณะ 330 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 30% ของเมืองที่ถือว่าหนาแน่นที่สุดในโลก

แน่นอนเช่นกันว่านี่เป็นผลจากวิสัยทัศน์ ‘The Garden City Vision’ ของ Lee Kuan Yew อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 1967 โดยเขาเชื่อว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสิงคโปร์ พร้อมกับช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ซึ่งถึงตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าจริงแท้) นับเป็นการสร้างแบรนดิ้งของเมืองที่แข็งแรงและมาก่อนกาลมาก

สิงคโปร์เริ่มจากปลูกต้นไม้ริมสองข้างถนนสายหลักให้เขียวครึ้ม ก่อนจะประกาศให้เรื่องพื้นที่สีเขียวเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ในปี 1975 ออกกฎหมายการจัดสรรพื้นที่สีเขียวและการทดแทนพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมี National Parks Board (NParks) เดินหน้าเชื่อมต่อสวนสาธารณะ (Park Connection Network: PCN) ทุกแห่งในเมือง โดยทำงานร่วมกับ Urban Redevelopment Authorities (URA) และ Housing and Development Board (HDB) ภายใต้ Ministry of National Development ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

กรุงเทพฯ เขียวแค่ไหน

หันกลับมามองพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 38.6 ล้านตร.ม. โดยนับรวมสวน 7 ประเภทได้แก่ สวนหย่อม สวนหมู่บ้าน สวนชุมชน สวนระดับย่าน สวนระดับเมือง สวนถนน และสวนเฉพาะทาง (สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, 2561)

เห็นแล้วอาจจะรู้สึกว่าเยอะ แต่ตัวเลขที่น่าตกใจคือหากคิดเป็นพื้นที่ต่อหัว กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนแค่ 6.8 ตร.ม. เท่านั้น และหากรวมจำนวนประชากรแฝงทั้งหมดที่มีถึง 7.4 ล้านคน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2560) จะทำให้ตัวเลขพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เหลือแค่ 5.23 ตร.ม./คน ถ้ายิ่งนับเฉพาะแค่พื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ทำกิจกรรมทางกาย เดินเล่น ออกกำลังกาย ฯลฯ  ตัวเลขจะลดลงเหลือแค่ 0.88 ตร.ม./คน และระยะการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะที่คนไม่สามารถเดินไปได้เลย

ส่วนพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่งที่มีความยาว 22 กิโลเมตร จากสะพานกรุงเทพฯ ถึง สะพานกรุงธนฯ  มีพื้นที่สาธารณะที่เข้าไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาฟรีๆ ได้แค่ 3 กิโลเมตรเท่านั้น

เห็นตัวเลขแล้วก็น่าเศร้าว่าคนกรุงเทพฯ ขาดแคลนพื้นที่สีเขียวกันขนาดไหน และแนวโน้มของพื้นที่สีเขียวในอนาคตก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ หากคนยังย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นเช่นที่เป็นอยู่

หากกรุงเทพฯ จะเขียว

UddC ศึกษาการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ว่าหากอยากไปให้ถึงตัวเลขที่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกเป็นกัน เราต้องปรับ-เปลี่ยนพื้นที่ตรงไหนให้เขียวขึ้นบ้าง

จากตัวเลขพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 5.23 ตร.ม./คน ถ้าจะให้ได้มาตรฐาน WHO ที่ 9 ตร.ม./คน เราต้องเปลี่ยนที่โล่งตามผังเมืองรวม และปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีขนาดเท่าสวนลุมพินี 2 สวนให้เขียวขึ้นรวมเข้าไป

หากอยากได้พื้นที่สีเขียวเท่าปารีส (13.2 ตร.ม./คน) เราต้องรวมสนามกอล์ฟที่มีกว่า 46 แห่ง เปลี่ยนพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่คนเข้าไปใช้งานได้ อย่างเช่นศูนย์กีฬาวังนันทอุทยานของกองทัพเรือ หรือพัฒนา Mixed Use Building ผสมผสานกับพื้นที่สีเขียว

หากอยากได้พื้นที่สีเขียวเท่าอัมสเตอร์ดัม (19.8 ตร.ม./คน) ให้รวมพื้นที่ศาสนสถาน 700 แห่งเปลี่ยนเป็นที่จอดรถสีเขียว และเพิ่มสวนหลังคาบนอาคารใหญ่เข้าไป

สุดท้าย หากอยากได้พื้นที่สีเขียวให้เท่ากับเบอร์ลิน (24.41 ตร.ม./คน) ให้เราปลูกต้นไม้ริมถนนสายประธานและสายหลักเพิ่ม ซึ่งหากทำได้ตามนี้ คนกรุงเทพฯ คงมีพื้นที่หย่อนใจใกล้บ้านมากขึ้น สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้เพียงแค่ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร

เริ่มเปลี่ยนก่อนให้เห็นจริง

ถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงและยั่งยืนในกรุงเทพฯ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงบอกว่าต้องมีตัวอย่างที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมให้เห็นก่อนเพื่อสร้าง impact ต่อไป 

หนึ่งในโครงการที่เริ่มต้นไม่ยากมากของกรุงเทพฯ คือโครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ค ที่นำโครงสร้างเก่าอย่าง ‘สะพานด้วน’ ระหว่างสะพานพระปกเกล้าขาเข้าและขาออก มาปรับปรุงเป็นสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและสวนลอยฟ้าแห่งแรกในกรุงเทพฯ แลนด์มาร์กใหม่นี้ UddC ทำร่วมกับหลายฝ่ายทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท และกรมเจ้าท่า

โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ค เป็นตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนโครงสร้างเก่าที่ปรับแค่เพียงนิดแต่ก็ได้ประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่นักเรียน ผู้พักอาศัย ได้มีพื้นที่หย่อนใจที่ใช้เดินข้ามไปมาระหว่างฝั่งพระนครและธนบุรี ช่วยให้การท่องเที่ยวในละแวกนั้นเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือ คะแนน GoodWalk Score ของย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่จะเพิ่มจากเดิม 49 คะแนนเป็น 76 คะแนน ซึ่งเป็นผลรวมมาจากการขยายระบบรางให้ครอบคลุมขึ้นด้วย โดยเรามองว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ คงเป็นตัวอย่างให้มีการเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวในย่านอื่นๆ เชื่อมโยงต่อกันมากยิ่งขึ้น

เพราะถ้ากรุงเทพฯ จะประกาศว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเมืองเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ต้องเร่งแก้ไขวิกฤตินี้เหมือนเมืองอื่นทั่วโลก ก็ต้องทำให้ได้จริง ไม่ใช่แค่พูดแล้วจบกันไป

โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล / อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ 


Contributor