10/01/2020
Public Realm

เมือง 4.0 : จะอยู่อย่างไรในแนวตั้ง

The Urbanis
 


เรื่อง: ภัณฑิรา จูละยานนท์

นักวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย

เรียบเรียง: อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

การกลายเป็นเมืองทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

กรุงเทพฯ มีแนวโน้มความเป็นเมืองที่สูงขึ้น มีประชากรเมืองเพิ่มมากขึ้น และเป็นเมืองที่มีขนาดความเป็นเมืองมากกว่าขอบเขตการปกครอง 

ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ขยายตัวไปยังพื้นที่จังหวัดปริมณฑลที่อยู่ข้างเคียง อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ซึ่งก็แน่นอนว่า ผู้คนย่อมต้องการที่อยู่อาศัยที่มากขึ้นตามไปด้วย

ทีมวิจัยด้านการอยู่อาศัยจากโครงการวิจัย“คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย”ได้ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิของปริมาณที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ พบว่า ที่อยู่อาศัยรูปแบบ “คอนโด” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเมือง นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่น่าสนใจก็คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยนี้ สอดคล้องกับช่วงเวลาของการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ  โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะในระบบราง 

 ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่อยู่อาศัย จากแนวราบมาสู่แนวตั้งที่สูงขึ้น ทั้งในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และโครงการพัฒนาของรัฐ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่การเคหะเเห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบแฟลต สูงประมาณ 4-5 ชั้น ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความสูงเพิ่มมากขึ้น 20- 30 ชั้น อันเป็นไปในในทิศทางเดียวกันกับที่อยู่อาศัยแนวตั้งในเมืองของภาคเอกชน

ภาพการอยู่อาศัยในคอนโดอาจเป็นปรากฎการณ์ที่คนเมืองกรุงเทพฯ เห็นชินตาในปัจจุบัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่ารูปแบบการอยู่อาศัยในแนวตั้งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีพัฒนาการสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองอย่างไร ?

เราเริ่มรู้จักและอยู่อาศัยในแนวตั้งเมื่อไหร่

ผลการศึกษาค้นคว้าของทีมวิจัย พบว่า มนุษย์เริ่มสร้างอาคารที่อยู่สูงกว่าพื้นที่ดินมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรได้ไม่นานนัก โดยยุคต้นจะพบเห็นได้ในชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ที่อยู่อาศัยแนวตั้งถูกพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยมา จนกระทั่งถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่การกลายเป็นเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านที่อยู่อาศัยครั้งใหญ่ที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะอาคารที่อยู่อาศัยในแนวตั้งแบบอพาร์ตเมนต์นี้ เริ่มปรากฏมาตั้งแต่ยุคโรมัน หากย้อนกลับไปในยุคนั้น การวางผังเมืองและจัดการโครงสร้างพื้นฐานทำให้เริ่มมีการก่อรูปของที่อยู่อาศัยในแนวตั้งภายในเขตกำแพงเมืองขึ้นเพื่อเพิ่มความหนาแน่นให้กับเมืองและสนับสนุนการอยู่รวมกลุ่มภายในเขตกำแพงเมือง หรือแม้แต่ในพื้นที่ชนบทก็เริ่มมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในแนวตั้งเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของชุมชน ดังนั้นการอยู่อาศัยในแนวตั้งของมนุษย์ในสมัยนั้น เลือกที่จะอยู่อาศัยในแนวตั้งเพื่อผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมและการป้องกันภัยจากศัตรูเป็นหลัก

จุดเปลี่ยนสำคัญของการอยู่อาศัยในแนวตั้ง คือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม”

ในยุคของการปฎิวัติอุตสาหกรรม เมืองกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสและงานจำนวนมากจากระบบอุตสาหกรรมในเมือง มีการกระจุกตัวของผู้คนจำนวนมากที่ย้ายเข้ามาจากชนบทจนทำให้พื้นที่เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นและคนจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในสภาวะแออัด ที่อยู่อาศัยแนวตั้งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มชนชั้นผู้ใช้เเรงงานในเมืองที่ต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมากใกล้โรงงาน ที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก ผู้คนจำต้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัดในบ้านที่ไม่มีแสงแดดส่องถึงและไม่สามารถระบายอากาศได้ดี จนนำไปสู่ปัญหาสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยที่ขยายวงไปสู่ปัญหาสุขภาวะเมืองที่รุนแรงตามมา

หลังจากนั้น จึงเริ่มเกิดการเรียกร้องสวัสดิการของรัฐด้านที่อยู่อาศัยโดยกลุ่มชนชั้นผู้ใช้แรงงาน จะเห็นได้ว่า ที่อยู่อาศัยแนวตั้งในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ รูปแบบที่อยู่อาศัยแนวตั้งไม่ได้เป็นที่ปรารถนาของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเหมือนดังเช่นในปัจจุบัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้รัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการด้านที่อยู่อาศัยของเมืองผ่านการใช้กฏหมายและการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย นอกจากนั้นในช่วงสงครามโลก ที่อยู่อาศัยบางส่วนของเมืองในหลายประเทศถูกทำลายลง เมื่อสงครามสิ้นสุดและผู้คนกลับเข้ามาอยู่ในเมืองหลังจากการสู้รบ ความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมากเกิดขึ้นอีกครั้ง รัฐในหลายประเทศจึงดำเนินการสร้างกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้คนที่กลับเข้ามาในเมือง ที่อยู่อาศัยเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยที่ต้องการก่อสร้างด้วยความรวดเร็วในปริมาณมาก การพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะทำซ้ำ (mass housing) จึงเป็นวิธีการแพร่หลายที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ความเคลื่อนไหวตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสหกรรมจนถึงหลังสงครามโลกทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้นโดยรัฐ” (Public Housing) หรือในบ้านเรารู้จักกันในชื่อของ “บ้านการเคหะ” ถูกพัฒนาขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดตั้งต้นของที่อยู่อาศัยแนวตั้งยุคใหม่ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

แนวโน้มที่อยู่อาศัยแนวตั้ง ในยุค 3.0 ของกรุงเทพและไทย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คือ คนจากชนบทย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ ในปริมาณที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ลักษณะของครัวเรือนโดยรวมกลับมีขนาดเล็กลง คนนิยมอยู่คนเดียวมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เเม้คนจะนิยมอยู่คนเดียวมากขึ้น แต่จำนวนครอบครัวเดี่ยวกลับมีน้อยลง และมีครอบครัวขยายจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาต่อไป

ในด้านราคาที่ดิน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ราคาที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงตามไปด้วย ราคาที่อยู่อาศัยที่สูงทำให้ขนาดห้องมีแนวโน้มเล็กลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของทีมนักวิจัยที่รวบรวมมาพบว่า ภายในระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ขนาดเฉลี่ยของห้องเดี่ยวมีขนาดเล็กลงกว่าครึ่งหนึ่ง จาก 65 ตารางเมตร ในปี 2006 เป็น 28 ตารางเมตร ในปี 2019 นอกจากนี้สัดส่วนห้องเดี่ยวในคอนโดก็มีจำนวนสูงขึ้น ในขณะที่จำนวนยูนิตห้องชุดสำหรับครอบครัวกลับมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

แนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยแนวตั้งคือ โลกาภิวัตน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ของประเทศไทยเพื่อการเก็งกำไร การเข้ามาของตลาดเก็งกำไรในประเทศไทยทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นตลาดเช่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเป็น “ความต้องการเทียม” ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นตามกลไกตลาด  นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็มีการเเข่งขันที่สูงขึ้น เกิดผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก

ในด้านค่านิยม คนรุ่นใหม่ในเมืองมีแนวคิดต่อบ้านและที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป คนบางกลุ่มเริ่มมีความคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง บ้านไม่จำเป็นต้องมีบริเวณบ้านและสวนส่วนตัวอีกต่อไป ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความนิยมในที่อยู่อาศัยแนวตั้งเพิ่มขึ้น คนบางกลุ่มเริ่มคุ้นชินกับที่อยู่อาศัยในแนวตั้งมากกว่า นอกจากนี้ แนวโน้มความไม่ต้องการเป็นถือครองและเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยซึ่งอาจเกิดจากความสมัครใจหรือภาวะจำยอมจากราคาที่อยู่อาศัยเมืองที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเทรนด์ของการเช่าตลอดชีวิตที่อาจกลายเป็นค่านิยมใหม่ของคนเมือง

ผลกระทบจากปรากฏการณ์กลายเป็นเมืองที่รวดเร็วและเติบโตแบบไร้ทิศทาง (Urban Spraw) ของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดที่อยู่อาศัยไม่เพียงแต่กลุ่มบ้านจัดสรรเท่านั้นที่ขยายตัวไปตามชานเมือง แต่ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดก็ขยายตัวตามแนวการพัฒนาของเมืองด้วย โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ผลที่ตามมาคือความต้องการเดินทางของคนที่อยู่อาศัยในบริเวณชานเมืองก็มีสูงขึ้นและเดินทางในระยะทางและเวลาที่ไกลขึ้น

นอกจากนี้โจทย์ที่สำคัญอีกประการที่จะเข้ามามีบทบาทของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก นั่นคือ กระบวนการดิจิทัล ค่านิยมในเศรษฐกิจแบ่งปัน สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือการบริโภคอย่างยั่งยืน ที่จะเริ่มมามีบทบาทกับการใช้ชีวิตคนเมือง

หากแนวโน้มและปรากฏการณ์ด้านที่อยู่อาศัยยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในอนาคตภาพที่จะเกิดขึ้นในด้านที่อยู่อาศัยของเมืองคงหนีไม่พ้นในประเด็นที่กล่าวมาและน่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทีมนักวิจัยได้สรุปประเด็นจากการคาดการณ์อนาคตด้านที่อยู่อาศัยแนวตั้งในเมืองผ่านวิธีการต่อแนวโน้ม (trend extrapolation) ออกมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจ 5 ประเด็น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประเด็นด้านการอยู่อาศัยที่สำคัญที่มหานครกรุงเทพและคนเมืองจะต้องเตรียมพร้อมรับมือในอนาคตอันใกล้

ฉากทัศน์การอยู่อาศัยในแนวตั้ง

ทิศทางและแนวโน้มของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น นำมาสู่ภาพฉากทัศน์อนาคตการอยู่อาศัยแนวตั้งของมหานครกรุงเทพฯ  ที่สามารถเล่าได้ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญดังนี้

เก่าก่อนรวย : คนก็แก่ คอนโดก็เก่า

เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น มีจำนวนคนอยู่คนเดียวมากขึ้น ค่านิยมการเช่ามากขึ้นกว่าการซื้อหรือเป็นเจ้าของถาวรในที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดภาพของ “คอนโดเก่าก่อนรวย” ปรากฏการณ์ต่อเนื่องของการซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่าจนเกิดส่วนเกินของความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัย จนเกิดการสวนกลับของตลาดและซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัยดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจทำให้ราคาในที่อยู่อาศัยตกลง คอนโดปล่อยเช่าบางแห่งไม่มีคนอยู่ หรือเก่าก่อนที่จะมีคนมาเช่า 

เหตุผลส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากสภาพอาคารที่เก่าลง เราจะเห็นภาพคอนโดที่เก่าลงพร้อมๆ กันในเมืองกรุงเทพฯ เพราะคอนโดเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันในยุคที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวตั้งเติบโตสูง จำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยที่มากกว่าความต้องการในปัจจุบัน ทำให้เกิดห้องว่างจากการปล่อยเช่า เกิดคอนโดที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย กลายเป็นคอนโดร้าง ร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในคอนโดที่ขาดความหลากหลายของผู้คน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคอนโดเสื่อมสภาพหรือเก่าลง ผู้อยู่อาศัยที่เข้าสู่ช่วงสูงวัยจะต้องแบกรับภาระในการซ่อมแซมอาคารเก่าที่ชำรุด ในขณะที่ไม่มีกำลังทำงานหรือหาเงินมาเพื่อปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยได้ จนเกิดเป็นภาพที่ผู้สูงวัยอยู่ในอาคารที่เสื่อมสภาพ เป็นที่มาของคำว่า “คนก็แก่ คอนโดก็เก่า”

การเช่าตลอดชีวิต กลายเป็นความปกติใหม่

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาที่ดินที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนไม่มีกำลังพอที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนชั้นกลางระดับล่าง ประกอบกับค่านิยมด้านการถือครองที่เปลี่ยนไป นำมาสู่ภาพอนาคตที่ว่า การเช่าที่อยู่อาศัยไปตลอดชีวิตจะกลายเป็นความปกติใหม่ของรูปแบบการอยู่อาศัยในเมือง

นอกจากนี้การเข้ามาของชาวต่างชาติที่เลือกเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองสูงขึ้น เศรษฐกิจแบ่งปันแพร่หลายขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อคุณค่าและค่านิยมของการอยู่อาศัยจากการถือครองถาวรเป็นการเช่าซื้อ รูปแบบความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านที่เป็นผู่เช่าจะไม่ค่อนยืดโยงกับพื้นที่ ไม่พยายามสร้างความคุ้นเคย ต่างคนต่างอยู่ ทั้งนี้ เพระานัยยะของการเช่าอยู่อาศัย หมายถึงความไม่ถาวรและพร้อมจะเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามปัจจุยด้านสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ

ดังนั้น การเช่าตลอดชีวิต จะสะท้อนความไม่เป็นหลักแหล่งของผู้คนในเมืองที่พร้อมเปลี่ยนและย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ตามแหล่งงาน หรือในพื้นที่ที่สามารถมีกำลังเพียงพอที่จะเช่าอยู่อาศัยได้ และหากลองมองคาดการณ์ไปในอนาคตหากการเช่าที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่หมดกำลังในการเช่าทั้งจากประเด็นของรายได้ และอื่นๆ จนอาจนำไปสู่ภาวะไร้บ้านในที่สุด

ชุมชนแนวตั้ง กับการพัฒนาชานเมืองตามเส้นทางรถไฟฟ้า

การขยายตัวของเมือง และที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม เกิดจากการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าครอบคุลมไปยังพื้นที่ชานเมือง ประกอบกับพัฒนาการของรูปแบบคอนโดที่มีความหลากหลายมากขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่เมืองเเพงขึ้น ส่งผลให้ค่านิยมในการมีบ้านเดี่ยวเปลี่ยนไป

ด้วยข้อจำกัดด้านราคาและการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางระดับล่าง ทำให้กลายเป็นผู้ที่ต้องรับศึกหนักในด้านที่อยู่อาศัยที่ต้องอยู่ไกลพื้นที่แหล่งงานมากขึ้น มีต้นทุนในการเดินทางที่ไกลขึ้น รวมถึงอาจจะแพงขึ้นจากการมีที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมือง แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาทำงานในพื้นที่เมืองชั้นใน ประกอบกับการเข้าถึงสาธารณูปการและบริการของภาครัฐที่ลำบากในการเข้าถึงเช่น สถานพยาบาล พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ และสถานศึกษาเป็นต้น

คอนโดขนาดเล็ก คับที่จนคับใจ

เมื่อแนวโน้มขนาดห้องพักในคอนโดที่มีขนาดเล็กลง จำนวนห้องเดี่ยวในแต่ละคอนโดมีมากขึ้น ยิ่งในพื้นที่เมืองที่มีราคาที่ดินแพงการลดขนาดพื้นที่ต่อยูนิตในราคาที่พอจะดำเนินการได้ กลายเป็นทางเลือกของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ยิ่งเป็นคอนโดที่อยู่กลางเมืองในราคาเดียวกันกับชานเมืองมีแนวโน้มที่ขนาดห้องเดี่ยวจะมีขนาดเล็กลงไปกว่านั้นอีก

การลดขนาดพื้นที่คอนโดมิเนียมในเมือง อาจมีขนาดเล็กไปจนถึง 20 ตารางเมตรต่อยูนิต ซึ่งเป็นขนาดเล็กที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด หากเป็นการอยู่คนเดียวในพื้นที่ 20 ตารางเมตร อาจจะเป็นไปได้ในคุณภาพชีวิตที่พอดีจะใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่หากคิดจะมีบุตรหรือครอบครัวในพื้นที่อยู่อาศัยขนาด 20 ตารางเมตรก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยากและมีความแออัดสูง เหมือที่เกิดขึ้นในหลายประเทศตอนนี้

นอกจากพื้นที่ที่เล็กลงแล้ว พื้นที่บางส่วนจะหายไป ด้วยช่องว่างของข้อกำหนดทางกฎหมาย ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร ที่ไม่บังคับให้ต้องมีส่วนที่เรียกว่าครัว บทบาทของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่จึงเป็นเพียงที่นอนเท่านั้น คนเมืองจึงไม่สามารถทำอาหารกินเองได้ภายในห้องพัก หรือถ้าพอจะทำได้อาจเป็นเพียงการใช้เตาไมโครเวฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็กน้อยๆ เท่านั้น ซึ่งจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกต่อไปในเรื่อง “ที่อยู่อาศัยและความสมารถในการทำอาหารกินเองที่บ้าน”

เด็กคอนโด ไม่เคยสัมผัสดิน ไม่เคยกินรสมือเเม่

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการแพร่หลายของอาคารที่อยู่อาศัยในแนวตั้ง และมีขนาดต่อยูนิตเล็กลง คือ มีกลุ่มเด็กที่เกิดและโตในคอนโดอย่างเดียว เด็กเหล่านี้มีโอกาสเล่นนอกบ้านน้อย ทำให้ไม่มีโอกาสได้พบปะผู้คนที่หลากหลายหรือเล่นกับเด็กคนอื่นในพื้นที่สนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะบ่อยนัก คอนโดที่อยู่ในเมืองย่อมไม่มีพื้นดินบริเวณกว้างๆ ให้เด็กได้วิ่งเล่น เพราะราคาที่ดินที่แพงมากทำให้พื้นที่สีเขียวถูกยกไปบนดาดฟ้าอาคารที่มีบริเวณจำกัด การใช้พื้นที่ดินเป็นสวนจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ เด็กๆ ที่โตมาในคอนโดเหล่านี้อาจเติบโตมากับอาหารถุงและไม่เคยได้ทานอาหารรสมือเเม่เลย เนื่องจากอาคารที่อยู่อาศัยไม่รองรับการทำอาหารกินเองได้ 

มีคำกล่าวที่เป็นตลกร้ายว่า “เด็กสมัยนี้คุ้นเคยกับการกดลิฟต์ ขึ้นบันไดเลื่อน มากกว่าการเล่นดิน หรือวิ่งเล่นบนพื้น” สิ่งที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มและทิศทางของการอยู่อาศัยในแนวตั้งเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ รัฐต้องคำนึงถึงในด้านการให้บริการสาธารณูปการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ปัญหาตรงนี้ สาธารณูปการเหล่านั้นอาจทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดในรูปแบบครัวกลาง พื้นที่สวนสาธารณะใกล้บ้านควรจะต้องมีมากขึ้น และควรมีแหล่งอาหารคุณภาพที่คนเมืองสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกในชีวิตประจำวัน

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการฉายภาพสถานการณ์ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตตามแนวโน้มปกติที่เป็นอยู่ในเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะรูปแบบที่อยู่อาศัยแนวตั้งของมหานครกรุงเทพ ความท้าทายต่อไปในอนาคตคือ การจินตนาการถึงการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้วิถีชีวิตของคนเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องของค่านิยม และข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างล้วนมีส่วนในการกำหนดอนาคตของการอยู่อาศัยในเมืองของเราในอนาคตทั้งสิ้น

นี่เป็นเพียงผลการศึกษาขั้นต้นของทีมงานวิจัย คนเมือง 4.0 ในด้านการอยู่อาศัยเท่านั้น หลังจากนี้ทีมวิจัยจะทำการคาดการณ์อนาคตด้านการอยู่อาศัยในเมืองและสร้างฉากทัศน์ทางเลือกในอีก 20 ปีข้างหน้าเพื่อค้นหาความเป็นไปได้อื่นให้กับการอยู่อาศัยของคนเมือง  ซึ่งทางทีมงานจะมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไป


Contributor