09/12/2019
Public Realm

ส้วมสาธารณะ : ความสำเร็จของพื้นที่สาธารณะอย่างหนึ่งในสังคมไทย

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
 


เรื่อง/นำเสนอข้อมูล: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

ห้องน้ำหรือ ‘ส้วม’ คือสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และเชื่อไหมว่า ‘ส้วม’ คือสิ่งที่บอกเล่าให้เรารู้ได้ด้วย ว่าลักษณะของเมืองหรือสังคมนั้นๆ เป็นอย่างไร

หลายเมืองในยุโรป ห้องน้ำสาธารณะเป็นเรื่องหายากและราคาแพง คนในเมืองเหล่านั้นจึงล้วนมีทักษะกักเก็บน้ำไว้ในตัว รอจนเมื่อถึงบ้านจึงใช้ห้องน้ำได้อย่างสบายใจ หากมองในแง่นี้ เราจะพบว่า ประเทศไทยแทบจะเป็นสวรรค์แห่งห้องน้ำสาธารณะเลยก็เป็นได้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หลายคนก็มั่นใจได้ว่าสามารถหาห้องน้ำได้

ที่มาภาพ (NA)

แต่คำถามก็คือ หากดูข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ส้วม’ ในสังคมไทยจริงๆ สภาพการณ์เรื่องส้วมเป็นอย่างที่ว่ามาหรือเปล่า?

จากเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าห้องน้ำเป็นประเด็นที่ไม่ถูกกล่าวถึง และแหล่งข้อมูลของกรุงเทพมหานครเองก็ไม่มีข้อมูลเรื่องห้องน้ำสาธารณะเลย 

เมื่อใช้วิธีกวาดข้อมูล (data scraning) จากทวิตเตอร์ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยตั้งคำค้นหาว่า “ห้องน้ำ” และ “ส้วม” เพื่อดูว่าคนไทยพูดถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ผลปรากฎว่าคำว่า “ห้องน้ำ” มีคนพูดถึงเพียง 23 ครั้ง โดยพูดถึงเรื่องที่ดาราเกาหลีสอนให้คนต่างชาติพูดคำว่าห้องน้ำเพื่อเป็นประโยชน์เวลาถามทาง ส่วนคำว่า “ส้วม” คนพูดถึงหลายร้อยครั้ง แต่กลับเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากละครเรื่องหนึ่งที่มีฉากส้วมเข้ามาพอดี  ดังนั้น จึงน่าจะมั่นใจได้ว่า ห้องน้ำหรือส้วมสาธารณะคงไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณะสักเท่าไหร่ของสังคมไทย ถึงเป็นปัญหา ก็น่าจะเป็นเพียงปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ข้อมูลจากการนับคำที่เกี่ยวข้องในทวิตเตอร์ที่มีคำว่า ”ส้วม”

มากไปกว่านั้น เมื่อใช้ Google Trends เพื่อดูว่าคนค้นหาคำว่า “ห้องน้ำสาธารณะ” มากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่า อัตราที่คนใช้ Google ค้นหาประเด็นเรื่อง “ห้องน้ำสาธารณะ” อยู่ที่เฉลี่ยไม่เกิน 20% เท่านั้น ไม่ได้สูงขึ้นหรือต่ำลงแต่อย่างใดในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

การที่ห้องน้ำหรือส้วมสาธารณะไม่ได้ ‘เป็นประเด็น’ สักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะในข้อมูลอย่างเป็นทางการหรือในการค้นหาของคนทั่วไป อาจแปลความได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการจัดการและให้บริการเรื่อง ‘ส้วมสาธารณะ’ ที่ดีจนไม่ป็นปัญหาก็ได้

คำถามก็คือ เพราะอะไร สังคมไทยโดยรวมจึงมีห้องน้ำสาธารณะที่ค่อนข้างดีและครบครันในระดับหนึ่ง แม้แต่ปั๊มน้ำมันหลายแห่งถึงกับยกห้องน้ำเป็นจุดขายและจุดแข็งที่ใช้แข่งกันทางการตลาด ปัจจุบัน หากหน่วยงานหรือบุคคลใดต้องการจะเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ปั๊มน้ำมัน กระทั่งห้องสมุด หรือสวนสาธารณะ แทบทุกที่จะต้องออกแบบให้มีห้องน้ำในพื้นที่ที่สะอาดและเข้าถึงได้อย่างสะดวก การบริการห้องน้ำที่ดีจึงกลายเป็นเหมือนมาตรฐานสำคัญในสังคมไทยไปโดยปริยาย

บทความหนึ่งของ PostToday สรุปประเด็นเรื่องสุขาภิบาลและสาธารณสุขในเมืองว่า เริ่มต้นตั้งแต่พ.ศ. 2440 ที่รัฐในรัชสมัย ร.5 ได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วมเป็นบรรทัดฐานใหม่ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบสุขภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนไทย เช่น “ส้วมหลุมบุญสะอาด” ที่เริ่มมีการประยุกต์รวมเอาคอห่านเข้ากับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม เป็นต้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครัวเรือนในกรุงเทพฯ จึงมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะขึ้นเรื่อยๆ

ในบทความสั้นๆ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นส้วมไว้ว่า จริงๆ แล้ว การสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะมีการเก็บข้อมูลเรื่องส้วมอยู่ด้วย  โดยในปี 2513 สัดส่วนของครัวเรือนที่มีส้วมถูกสุขลักษณะ (นับครัวเรือนที่มีส้วมซึมหรือส้วมชักโครก) มีเพียง 48.24% แต่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปี พ.ศ. 2543 มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีส้วมถูกสุขลักษณะสูงขึ้นถึง 97.81% 

ในช่วงปีดังกล่าว รัฐยังเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงห้องน้ำสำหรับผู้พิการและคนชรา จึงใช้กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยด้วย

การวางนโยบายและมาตรฐานใหม่นี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาตรฐานสาธารณสุขในครัวเรือนไทยด้านส้วมดีขึ้นเรื่อยๆ ตามสถิติที่กล่าวมา และด้วยผลสัมฤทธิ์ที่ดีจนกลายเป็นมาตรฐานความธรรมดาในสังคมไทยเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักงานสถิติเลิกเผยแพร่ข้อมูลประเด็นด้านส้วมที่ถูกสุขลักษณะในปีถัดๆ มา

ที่มาข้อมูล (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวันส้วมโลกของ World Toilet Organization (WTO) โดยหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยใช้โอกาสดังกล่าวในการผลักดันนโยบายด้านห้องน้ำสาธารณะอย่างจริงจัง คือ มีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพส้วมสาธารณะในประเทศด้วยคำย่อว่า HAS มาจากประเด็นย่อย 3 ด้านคือ ความสะอาดถูกสุขลักษณะ (Healthy) เพียงพอ เข้าถึงได้ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) (กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับงานในปีดังกล่าว หลายภาคส่วนจึงเริ่มหันมาพัฒนาห้องน้ำสาธารณะร่วมกับรัฐมากขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมันปตท.ได้เปิดตัวรูปแบบปั๊มน้ำมันแบบ PTT Park เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 (ไทยรัฐ) และในปี พ.ศ. 2556 กลุ่มพื้นที่และอาคารสาธารณะเป้าหมายสำหรับห้องน้ำสาธารณะ 13 ประเภท เริ่มกระจายออกในวงกว้างมากขึ้น รวมถึง วัด โรงเรียน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านจำหน่ายอาหาร สวนสาธารณะ แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ สถานบริการสาธารณสุข สถานีขนส่ง พื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และส้วมในสังกัดคณะกรรมการอาชีวศึกษา ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย เพื่อรองรับสาธารณะชนในทุกๆ ที่ 

ความพยายามจากภาครัฐเหล่านี้ ถือว่ามีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลเป็นที่น่าชื่นชมยิ่ง  และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างด้านห้องน้ำสาธารณะในระดับนานาชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องห้องน้ำสาธารณะก็แปรผันไปตามกายภาพของเมืองและคุณค่าของสังคมเช่นเดียวกัน ประเด็นเชิงกายภาพหนึ่งที่ประชาชนและสื่อเริ่มเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ห้องน้ำตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ แม้ว่าสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งจะมีห้องน้ำอยู่เป็นพื้นฐาน หลายสถานีเปิดให้เข้าใช้อย่างชัดเจน แต่ยังมีบางแห่งถูกอำพรางอยู่ในประตูที่มีป้ายเล็กๆ บ้างที่จำเป็นต้องขอเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าใช้ เมื่อไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนพอต่อผู้โดยสารที่มีความจำเป็นในการใช้ห้องน้ำ ทำให้สื่อหลายต่อหลายสำนักออกมาทำแผนที่ชี้จุดห้องน้ำตามสถานีต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็น TheStandard.co  MThai.com Infographic.in.th หรือ Home.co.th เป็นต้น

ที่มาภาพ: Infographic.in.th

อีกด้านหนึ่งของประเด็นห้องน้ำสาธารณะที่เริ่มเปลี่ยนไป คือ เรื่องของเพศสภาพที่หลากหลายมากขึ้น หากมองในเชิงกายภาพ หนึ่งในพื้นที่ที่แบ่งแยกเพศมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นห้องน้ำ 

เดิมเราแบ่งเพศสภาพตามลักษณะทางชีววิทยาเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง ตอบสนองต่อมาตรการ HAS ที่ถูกตั้งไว้ แต่เมื่อสังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทั้งในเชิงเพศสภาพ และเพศวิถี การขยายความปลอดภัยของห้องน้ำให้ครอบคลุมก็ย่อมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคมเช่นเดียวกัน 

โดยมาตรฐานจะตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่คนในสังคมต้องยอมรับกันและกันในฐานะมนุษย์ และช่วยกันสอดส่องดูแลคนรอบข้าง ส่งเสริมความเป็นสังคมที่ครอบคลุมทั่วถึงกันมากขึ้น ผ่านการพัฒนาจากจุดเล็กๆ ของเมือง คือ ห้องน้ำสาธารณะ

ที่มาภาพ (Medium.com/@aytchellis)

เรื่องของส้วมสาธารณะทำให้เราเห็นได้เลยว่า การเดินทางของส้วมในประเทศไทย จากการสร้างสุขอนามัยในครัวเรือนภายใต้ยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 มาถึงการรณรงค์ด้านสาธารณสุข ได้ส่งผลในทางที่ดีต่อสังคมไทยโดยรวม และทำให้สังคมไทยมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่ง

สิ่งนั้นก็คือ ‘ส้วมสาธารณะ’ นั่นเอง


Contributor