06/12/2019
Public Realm

อะไรคือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ กันแน่

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


คำว่า “พื้นที่สาธารณะ” คงเป็นคำพื้นฐานมากๆ สำหรับคนเมือง หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเรียนผังเมือง สถาปนิก หรือนักรัฐศาสตร์ (จริงหรือเปล่านะ) 

แต่คำถามก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว  เราเข้าใจในความหมายของคำว่าพื้นที่สาธารณะในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า หรือเราเข้าใจจริงๆ ไหมว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ 

คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่เราพูดกันเกลื่อนกลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงเมืองและผังเมืองนั้น แทบดูเหมือนเป็นคำที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า อะไรคือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ กันแน่?

พื้นที่สาธารณะ เป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตนอกบ้าน

หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง คุณคงตื่นเช้าไปทำงาน และกลับถึงที่พักตอนค่ำๆ แทบไม่เคยได้เข้าไปใช้พื้นที่สวนสาธารณะแบบจริงๆ จังๆ เลยในวันธรรมดา ต้องรอให้ถึงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์

ในวันหยุด คุณสามารถตื่นแต่เช้า เพื่อจะได้มีเวลาไปปั่นจักรยาน และเดินเล่นในสวนสาธารณะใหญ่ของเมืองได้ นั่นอาจเป็นภาพฝันของการเข้าไปใช้งานพื้นที่สาธารณะของคนเมืองกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า ที่ว่าเราไม่ได้ใช้ พื้นที่สาธารณะ เลยตลอดทั้งวัน แต่เข้าไปใช้สวนสาธารณะในวันหยุดเท่านั้น

ลองถามตัวเองดูหน่อยว่า นอกจากพื้นที่ในห้องนอน ในบ้านของคุณเองแล้ว เราใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนกันบ้าง ? 

นั่นคงเป็นคำถามพื้นฐานที่จะทำให้เรารู้ว่า ชีวิตของเราในทุกๆ วันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ “พื้นที่ข้างนอก” มากน้อยแค่ไหน

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวในงาน TEDxChulalongkorn ในหัวข้อ “เมืองของเรา เรื่องของเรา” เกี่ยวกับประเด็นพื้นที่นอกบ้านและพื้นที่สาธารณะอย่างน่าสนใจว่า

“เราใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งนอกบ้าน แล้วครึ่งหนึ่งของชีวิตนอกบ้าน คือ ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ” สมัยนี้ เราเกิดที่โรงพยาบาล ขึ้นรถสาธารณะไปทำงาน เรียนหนังสือ ซื้อของที่ตลาด วิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ป่วยก็ไปโรงพยาบาล ตายไปก็เผาที่เมรุร่วมกับคนอื่น หรือฝังในสุสานร่วมกับผีอื่นๆ” – ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ในงาน TEDxChulalongkorn

พื้นที่ข้างนอกที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ดูเหมือนจะสอดคล้องกับความคิดของ เจน เจคอป์ ผู้ให้คำนิยามของพื้นที่ข้างนอกนั้นว่า มันคือพื้นที่ของการใช้ชีวิตท่ามกลางตึกรามบ้านช่องในเมือง 

ดังนั้น คำว่า พื้นที่สาธารณะในเมือง จึงไม่ได้จำกัดแค่ สวนสาธารณะ ทว่ายังมีพื้นที่ (Space) และสถานที่ (Place) ประเภทอื่นๆ อีกมากมายในเมือง ซึ่งชีวิตของเราทุกวันนี้ล้วนเกี่ยวข้องและได้เข้าไปใช้งานไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

มีคนกล่าวเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามเมื่อเราก้าวเท้าออกจากบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว เรากำลังก้าวเข้าสู่พื้นที่ “ระหว่าง” อาณาบริเวณสาธารณะ (public sphere) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย มีหลายระดับของการเข้าถึง และหลายระดับของความเป็นสาธารณะ 

พื้นที่สาธารณะเป็นรากฐานที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และมีส่วนในการเปลี่ยนเปลี่ยงแปลงโครงสร้างทางสังคมของโลกใบนี้ 

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการให้ความหมายและนิยามคำว่าสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่สาธารณะภายใต้ความกดดันของวิธีคิดฐานแบบตลาด (market-base paradigm) เอาไว้หลากหลายมากมาย

พื้นที่สาธารณะ กับนิยามความหมายที่หลากหลาย

ในอดีตที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มความคิดเกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะ ที่ให้นิยาม และความหมายของพื้นที่สาธารณะ ในบริบทและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน อาทิ

กลุ่มความคิดยุคเเรกที่ให้ความนิยาม พื้นที่สาธารณะ ว่าเป็นคู่ตรงข้ามของพื้นที่ส่วนตัว

กลุ่มความคิดอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ให้นิยามความหมายของพื้นที่สาธารณะในเชิงโครงสร้าง เป็นมโนทัศน์ของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกระฎุมพี เพื่อการเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความอิสระ 

หรือกลุ่มความคิดในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งถือว่าพื้นที่สาธารณะเป็นความจำเป็นทางสังคม เป็นพื้นที่เพื่อให้เกิดการวิพากษ์ ถกเถียง และตีความของคนในทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่ในประชาสังคมกระฎุมพีเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าความหมายของพื้นที่สาธารณะมีการตีความที่หลากหลายตามช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเมือง ระบบเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

การตีความและให้ความหมายตามกลุ่มความคิดที่หลากหลายข้างต้น ยิ่งยืนยันความแตกต่างของพื้นที่สาธารณะ ตามความสนใจ ภูมิหลัง และมุมมองที่แตกต่างกัน

แต่ถ้าดูจากความสัมพันธ์ของพื้นที่นอกบ้านและพื้นที่สาธารณะ อาจสะท้อนได้ว่า พื้นที่สาธารณะ หมายถึง “พื้นที่ของเมือง”  (Urban Space) ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ถนน ทางเท้า ลานโล่ง สวนสาธารณะ  ที่มีการใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมสาธารณะ โดย Michael Brill เคยให้นิยามเอาไว้ว่า พื้นที่สาธารณะประกอบสร้างจากพื้นที่ทางกายภาพ ที่สัมพันธ์กับชีวิตสาธารณะซึ่งเข้าถึงได้ และมีกลุ่มคนผู้ใช้งานที่หลากหลาย มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน ทั้งที่เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงและร่วมสังเกตการณ์ โดยเป็นพื้นที่ทางสังคมที่รองรับคนทั้งในระดับบุคคล กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ชุมชนเมือง และรองรับความต้องการเพื่อผลประโยชน์ต่อสาธารณชน

ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

ธรรมชาติและลักษณะของพื้นที่สาธารณะจึงมีความชิดใกล้กับธรรมชาติและลักษณะของเมืองอย่างมาก

คำถามก็คือ – แล้วเมืองคืออะไร

Cities: – “Relatively permanent, compact settlements of large number of heterogeneous individuals”

ในชุมชนเมืองเก่าแก่หรืออดีตกาลนั้น พื้นที่เมืองมีขนาดเล็ก มีประชากรหน้าตาแบบเดียวๆ กัน ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ในเมืองสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มักมีผู้คนที่หลากหลาย เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นั่นทำให้นิยามความหมายของ พื้นที่สาธารณะมีการเปลี่ยนแปลง และมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า การเปลี่ยนเเปลงธรรมชาติของพื้นที่สามาธารณะเป็นไปเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติของเมือง พื้นที่สาธาณณะในเมืองยุคแรกเริ่มเป็นพื้นที่กลางของเมืองซึ่งมีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย อย่าง “agora” ในเมืองยุคกรีก หรือ “Forum” ในเมืองยุคโรมัน และพัฒนาการของพื้นที่สาธารณะตามการวิวัฒน์ความรุ่งเรืองของเมืองกลายเป็นพื้นที่ประเภทลานกว้าง หรือตลาด ในเมืองยุคกลาง หรือพื้นที่อื่นๆ อาทิ ลานจัตุรัส ถนน บาทวิถี

ภาพ อโกร่า ในเมืองยุคกรีก

Source: https://www.athenskey.com/agora.html

ภาพ ฟอรั่ม ในเมืองยุคโรมัน

Source: https://i.pinimg.com/originals/49/06/28/4906288fec06d6d00fcf2d1e4b919e87.jpg

ส่วนพื้นที่สาธารณะในช่วงของการเรียกร้องความอิสระ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคมยุโรปในช่วง ศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดพื้นที่ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นสาธารณะ เป็นพื้นที่พบปะทั้งในเชิงกายภาพที่เป็นสถานที่และรูปธรรมชนิดอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ เสวนาสโมสร นำไปสู่การก่อรูปของความคิดเกี่ยวกับพื้นที่ผลประโยชน์ส่วนรวม (Common Goods) หรือพื้นที่ทรัพยากรร่วม (Common Pool Resource) และพื้นที่ส่วนรวมของกลุ่ม (Club Goods)

ซึ่งทรัพยากรร่วมและพื้นที่ส่วนรวมของกลุ่มนี้ ในปัจจุบันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เช่น เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอะไรบางอย่างถึงจะเข้าไปใช้งานได้ เช่น พื้นที่ส่วนกลางของคอนโดฯ สระว่ายน้ำ หรือสวนสาธารณะภายในหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น

ความเป็นสาธารณะของอาณาบริเวณสาธารณะ

ในกลุ่มนักคิดเรื่องเมืองและพื้นที่สาธารณะ มีการเสนอหลักเกณฑ์ง่ายๆ เพื่อใช้พิจารณา ‘พื้นที่สาธารณะ’ เอาไว้

คนหนึ่งที่น่าสนใจมาก ในการตีความพื้นที่สาธารณะ คือ Ali Madanipour เขาเสนอเกณฑ์ง่ายๆ 2 ประการในการตีความ และทำความเข้าใจพื้นที่สาธารณะ นั่นคือ สถานที่/ถิ่นที่ (place) และ กระบวนการ (process) 

โดยเขาใช้หลักนี้ในการศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่สาธารณะในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทั้งความหมาย นิยาม และรูปแบบของพื้นที่สาธารณะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน (Ali Madanipour, 2010)

เขากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของพื้นที่ของเมือง คือความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า พื้นที่ (Space) และ ถิ่นที่ (Place) กล่าวคือ คำว่าพื้นที่มีลักษณะที่เป็นนามธรรมและไม่สื่อถึงความเป็นตัวตน ส่วนคำว่า ถิ่นที่ นี้มีความหมายและคุณค่าซ่อนอยู่

เขาเสนอวิธีการใช้งานเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวข้างต้นไว้อย่างง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง เพื่อดูว่าพื้นที่หนึ่งๆ เป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ ดังนี้

“ถิ่นที่ซึ่งเข้าถึงได้” (accessible place)

เขาเสนอให้พิจารณามิติด้านการเข้าถึง ดังนั้น ระดับของความเป็นสาธารณะจะขึ้นอยู่กับระดับของการเข้าถึง เช่น เปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มคนหรือไม่ เปิดกว้างในการเข้าถึงด้านเวลามากแค่ไหน เปิดกว้างในการเข้าถึงและการใช้งานในกิจกรรมที่หลากหลายเพียงใด

“ผ่านกระบวนการที่มีส่วนร่วม” (inclusive process)

หลักพิจารณาด้านกระบวนการนี้ ค่อนข้างเป็นวิธีการมองแบบสมัยใหม่ ในนิยามพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากพื้นที่สาธารณะบางประเภทไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้คน ฉะนั้น การตีความระดับความเป็นสาธารณะจากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนจึงสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะในปัจจุบัน

นั่นแปลว่า นิยามและความหมายของพื้นที่สาธาณระ จะต้องพิจารณาทั้งความเป็น “ถิ่นที่ซึ่งเข้าถึงได้” (accessible place) และต้องมี “กระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วม” (inclusive process) ในการพัฒนาและกำหนดพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ด้วย

เมื่อพิจารณาจากนิยามของคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดแล้ว และย้อนกลับมาดูพื้นที่นอกบ้านและชีวิตนอกบ้านของเราในทุกวันนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า ความหมายของพื้นที่สาธารณะไม่ได้จำกัดแค่เพียง สวนสาธาณณะของเมืองเท่านั้น แต่หมายรวมถึง พื้นที่สาธารณูปการอื่นๆ ของเมืองด้วย เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึง ถนนหนทางและทางเท้า 

สิ่งเหล่านี้ ‘เข้าถึงได้’ มากน้อยแค่ไหน และเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการ ‘การมีส่วนร่วม’ ของผู้คนมากน้อยแค่ไหน

นั่นคือคำถามที่เราต้องร่วมกันหาคำตอบต่อไป

โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้


Contributor