07/11/2019
Environment

แค่หายใจก็อ้วนแล้ว เมืองจมฝุ่น PM 2.5 ทำคนเสี่ยงโรคอ้วน-เบาหวาน

ชยากรณ์ กำโชค
 


ชยากรณ์ กำโชค 

คาดหน้ากากอย่างถูกวิธี และลดทำกิจกรรมในที่แจ้ง เป็นคำเตือนพื้นฐานจากหน่วยงานรัฐ เมื่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 

ใครๆ ก็รู้ ว่าฝุ่นเหล่านี้สร้างปัญหาสุขภาพระยะยาวให้ ‘คนเมือง’ มากมาย ตั้งแต่โรคมะเร็งทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือแม้แต่ปัญหาทางสุขภาพจิต 

แต่หลายคนอาจไม่เชื่อว่า ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ อาจทำให้เราเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ด้วย! 

 สำนักข่าวบีบีซีเคยนำเสนอบทความเมื่อปี 2015 “The air that makes you fat” (อากาศที่ทำให้คุณอ้วน) โดยยกผลวิจัยของคณะแพทย์หลายประเทศที่ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพอากาศของเมืองกับระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย มีสาระสำคัญว่า คนที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนมากกว่า แม้ทั้งสองคนจะรับประทานอาหารและออกกำลังกายเหมือนกัน 

ดร. หง เฉิน นักวิจัยจาก Public Health Ontario และ Institute of Clinical Evacuative Sciences ประเทศแคนาดา อธิบายว่าควันจากท่อไอเสียและควันบุหรี่เป็นตัวการณ์สำคัญ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า เมื่อขนาดอนุภาคที่เล็กจิ๋วของฝุ่นควันเข้าไปในร่างกาย มันจะเข้าไปขัดขวางความสามารถในการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลระยะยาวต่อร่างกายมากกว่าแค่ปอดและระบบทางเดินหายใจ

สอดคล้องกับผลงานทดลองในหนูโดย นายแพทย์ชิงหัว ซัน จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ที่แบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ อีกกลุ่มอาศัยท่ามกลางควันพิษในใจกลางเมืองและใกล้มอเตอร์เวย์ ตลอดการทดลอง ทีมวิจัยได้ชั่งน้ำหนักหนูทั้งสองกลุ่มและศึกษาระบบการเผาผลาญพลังงานอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งผ่านไป 10 สัปดาห์ ผลการศึกษาเปรียบเทียบปรากฏให้เห็นชัดเจน 

นั่นคือ หนูที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศมีสัดส่วนค่าไขมันสูงกว่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบหนูที่อาศัยในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์  นอกจากนี้ ยังพบว่าหนูอ้วนกว่ายังดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงาน นั่นหมายความว่า หนูอ้วนกว่าเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในระยะเริ่มต้น

นายแพทย์ไมเคิล เจอร์เร็ตต์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เบิร์กลีย์ ได้ทดลองในสัตว์เพิ่มเติม เขาพบว่า อนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดวิกฤตมลภาวะทางอากาศในหลายเมืองทั่วโลก นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของอินซูลินแล้ว มันยังรบกวนการทำงานของสมองที่ควบคุมความอยากอาหารด้วย กล่าวโดยสรุปคือ อากาศที่เลวร้ายของเมืองส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูงด้วยนั่นเอง 

อนุภาคขนาดเล็กในปอดที่มีผลต่อฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหาร  (ที่มา : Science Photo Library)

นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาในกลุ่มมารดา-บุตร และกลุ่มเด็ก-เยาวชนด้วย เช่น ผลการศึกษาของ นพ.แอนดรูว์ รันเดิล จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ ทำการศึกษาเด็กที่เกิดและเติบโตในย่านนิวยอร์กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึงอายุได้ 7 ปี โดยควบคุมระดับฐานะของครอบครัวและโภชนาการ ผลการศึกษาพบว่า เด็กในพื้นที่อากาศไม่มีคุณภาพ เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่าเด็กในย่านไร้มลพิษถึง 2.3 เท่า สอดคล้องกับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งติดตามเด็กอเมริกันกว่า 2,300 คน พบว่าเด็กและเยาวชนที่อาศัยใกล้กับถนนที่มีการจราจรติดขัดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่สูดอากาศบริสุทธิ์ถึง 2 ปอนด์ หรือราว 0.91 กิโลกรัม

US Environmental Protection Agency และองค์การอนามัยโลก (WHO) อ้างอิงผลการศึกษาในวารสาร Lancet Planetary Health ยืนยันว่า มลภาวะทางอากาศในระดับที่ส่งกระทบต่อการดำรงชีวิต โดยเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานของประชากรทั่วโลก เฉพาะปี 2016 เพียงปีเดียว พบว่า มลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานในประชากรกว่า 3.2 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 14% ของผู้ป่วยรายใหม่ในปีนั้น

เมื่อ “อาหาร” ไม่ใช่ความเสี่ยงเพียงประการเดียวของโรคอ้วน-โรคเบาหวาน แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ยากจะหลีกเลี่ยง นั่นคือ “อากาศ” ของเมือง จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้วิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

เมืองจมฝุ่นส่งผลร้ายมากกว่าที่หลายคนคิด

ที่มาข้อมูล

  1. https://www.dailymail.co.uk/health/article-6375133/Air-pollution-make
    -FAT-warns-Dr-Michael-Mosley.html
  2. https://www.forbes.com/sites/brucelee/2016/02/25/will-air-pollution-
    make-you-gain-weight/#69597db56361
     
  3. http://www.bbc.com/future/story/20151207-the-air-that-makes-you-fat 
  4. https://kywnewsradio.radio.com/articles/air-pollution-linked-32-million-
    new-diabetes-cases-one-year
     

Contributor